3 ก.ค. 2558

ยาอันตราย "โปรโคดิล (Procodyl)"

ยาอันตราย "โปรโคดิล (Procodyl)"
ยาอันตราย "โปรโคดิล (Procodyl)"


กลุ่ม เด็กมัธยมแห่เสพโปรโคดิล ตรวจสอบพบยาน้ำ ยาเม็ดผสมน้ำอัดลมดื่ม ตำรวจดำเนินคดีไม่ได้เพราะไม่ใช่สารเสพติด เด็กยอมรับเริ่มติด คล้ายดื่มเหล้า แพทย์ชี้ตัวยาแก้ปวดมีส่วนผสมของฝิ่น หากเสพปริมาณมากอาจชักและเสียชีวิตได้ 

เกิดเหตุและมีการแชร์คลิปว่อน  นักเรียนกินโปรโคดิล เกินขนาด เกิดอาการชักก่อนตกตลิ่งใต้สะพานภูมิพล จนท. เร่งส่ง ร.พ. อาการปลอดภัย นั้น ยาอันตรายนี้เป็นอย่างไรแล้วมีผลอย่างไรบ้าง ?


ขณะนี้นักเรียนมัธยมหลายคนติดยา ‘โปร’ (procodyl) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ชนิดน้ำสำหรับเด็ก นักเรียนเหล่านี้จะนำมาผสมคู่กับยาแก้ปวดชนิดเม็ด เติมน้ำอัดลมชงดื่ม แพร่ระบาดมาก เพราะเด็กสามารถซื้อยาโปรฯ ได้ถูกกว่าเหล้า เบียร์ แต่ออกฤทธิ์ให้ความรู้สึกเมาคล้ายกัน ไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์ให้ครูปกครองจับมาลงโทษ และยังไม่ผิดกฎหมาย

นายเอ (นามสมมุติ) อายุ ๑๗ ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ย่านสามเสน เปิดเผยว่า เป็นคนไม่ดื่มเหล้า เบียร์ก็ไม่ดื่มเพราะมีรสขม ปีที่ผ่านมา มีเพื่อนต่างโรงเรียนมาแนะนำให้รู้จักยาโปรฯ ซื้อจากร้านขายยาแห่งหนึ่งในราคาชุดละ ๑๓๐ บาท (ยาโปรฯ ๑ ขวด ยาแก้ปวดชนิดเม็ด ๑๐ เม็ด) นำมาผสมกับน้ำอัดลม ทำให้ยาโปรฯ มีรสหวาน เมื่อดื่มไปแล้วจะมีอาการเมาคล้ายดื่มเหล้า ง่วง บางครั้งจะคันตามเนื้อตัว

เวลานี้แพร่หลายมากในกลุ่มมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย “บางคนกินเกินขนาด จะชักและหายเอง คล้ายเป็นลมบ้าหมู เวลาที่ไม่ได้กินจะร้อน ๆ หนาว ๆ เหมือนคนเป็นหวัด ปวดเนื้อ ปวดตัว ถ้าไม่กินประมาน ๒ - ๓ วัน จะครั่นเนื้อครั่นตัว มันจะอยากกิน ผมว่าผมติดแล้วแหละ คิดจะเลิกแต่ขอโตกว่านี้ก่อน” และกล่าวเพิ่มเติมว่า อาจารย์ที่โรงเรียนไม่เคยจับได้ เพราะไม่เคยนำไปผสมดื่มที่โรงเรียน มักจะไปดื่มช่วงหลังเลิกเรียนเป็นกลุ่มกับเพื่อน คล้ายกับการตั้งวงสังสรรค์ ถ้าอาจารย์จับได้ จะเรียกผู้ปกครองมาตักเตือน


เภสัชกรวุฒิพงศ์ สายสงเคราะห์ เจ้าของร้านขายยาแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ยาที่นำมาผสมยาโปรฯ สามารถขายในร้านขายยาได้ทุกร้าน แต่ทางร้านจะต้องทำบัญชีส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และบริษัทยาต้องทำบัญชีส่ง อย. ด้วยเช่นกัน

ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ในระยะเวลา ๑ เดือน แต่ละร้านสามารถขายยาโปรโคดิลได้ไม่เกิน ๓๐๐ ขวด ในการสั่งซื้อยาชนิดนี้กับบริษัทยา จะต้องมีใบสั่งจากเภสัชกรเท่านั้น ยาอีกชนิดหนึ่งที่นำมาผสมกับโปรโคดิล คือยาแก้ปวดชนิดรุนแรง ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือในการควบคุมยาจากร้านขายยาให้หลีก เลี่ยงการจ่ายยาแก่เด็กวัยรุ่น และจำกัดการจำหน่ายได้ไม่เกิน ๒๐ เม็ดต่อคน ล่าสุด ชนิดยาที่วัยรุ่นนำไปใช้เพิ่มขึ้น คือกลุ่มยาแก้ไอที่มีรสหวาน ไม่จำเป็นต้องเป็นยาแก้แพ้อย่างเมื่อก่อน

แหล่งข่าวอาจารย์ฝ่ายปกครองโรงเรียน เปิดเผยว่า เคยจับนักเรียนที่นำยาแคปซูลสีเหลืองเขียว (ยาแก้ปวดชนิดรุนแรง) มาโรงเรียน แต่ไม่สามารทำอะไรได้ เพราะไม่เหมือนกับยาเสพติดที่ตรวจฉี่แล้วรู้ว่านักเรียนคนนี้เสพ “แต่เด็กที่เสพยาโปรฯ นั้น เราสามารถรู้ได้ด้วยอาการผิดปกติ คล้ายคนเมา ไม่มีกลิ่นเหล้า ทำได้แค่ตักเตือนสั่งสอน เชิญผู้ปกครองมาพบ จากนั้นคัดกรองเอาไว้ ทำทะเบียนผู้ติดยา ต่อไปถ้าทำอีก ต้องนำนักเรียนมาปรับพฤติกรรม


เคยมีนักเรียนชั้น ม. ๖ มีอาการติดยาโปรฯ สะลึมสะลือ พูดไม่รู้เรื่อง คล้ายคนเมา เซื่องซึม เหมือนคนง่วงตลอดเวลา หากวันไหนไม่ดื่ม จะดูสดใสมีชีวิตชีวา เป็นคนละคน "เด็กบางคนเคยท้าให้ตรวจปัสสาวะ เพราะรู้ว่าตรวจแล้วไม่เจอสารเสพติด  จัดประชุมกัน อาจารย์โรงเรียนหนึ่งนำเสนอปัญหาเรื่องเด็กติดโปรฯ ปรากฏว่าอาจารย์โรงเรียนอื่น ๆ ก็พูดถึงปัญหาติดยาชนิดนี้เช่นกัน กลุ่มที่ติดก็จะเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเดิม ๆ  โรงเรียนต่าง ๆ พบปัญหาเหมือนกันหมด"


นายแพทย์ปฏิพัทธ์ วุฒิวิทยารักษ์ แพทย์ชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุข ๔๒ ถนอม ทองสิมา เปิดเผยว่า ยาโปรฯ ไม่ถือเป็นสารเสพติดตามกฏหมาย แต่ทางพฤติกรรมถือเป็นยาเสพติดได้ ยาเม็ดที่นำมาผสมโปรโคดีล เป็นกลุ่มยาแก้ปวด มีส่วนผสมของฝิ่นอยู่ด้วย ทำให้ลดอาการเจ็บปวดได้

ส่วนมากมักใช้ในคนไข้ที่ผ่าตัด ผลข้างเคียงของยาจะทำให้คลื่นไส้อาเจียนเยอะ ส่วนตัวที่เป็นยาน้ำ เป็นยาแก้แพ้ ผลข้างเคียงมีหลายอย่าง อย่างแรก ทำให้ง่วงนอน กดประสาทและกดการหายใจได้ เป็นกลุ่มยาที่ค่อนข้างอันตรายจะทำให้มีไข้สูงและชักได้  ถ้ากินในปริมาณมากอาจทำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้ อันตรายอีกประการหนึ่งของยาชนิดนี้ คือ ส่งผลต่อความดันผิดปกติ การนำยาเหล่านี้มาผสมกับน้ำอัดลม จะออกฤทธิ์เพิ่มมากกว่าเดิม

Cr. สุนันทา,เล่าสู่กันฟัง , e-news