การชำระเงินยุคดิจิตอล    
     
                   การขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ(E-Commerce) หรือซื้อขายทางโทรศัพท์ (Mobile Commerce) ได้นำไปสู่พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของระบบการชำระเงิน ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ระบบการชำระเงินแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า สัดส่วนการชำระเงินผ่านทางเลือกใหม่ๆ เช่น อี-วอลเลท (e-Wallet) การโอนเงินแบบเรียลไทม์ หรือทางโทรศัพท์มือถือจะเพิ่มขึ้นทั่วโลกจาก 43% ในปี 2012 เป็น 59% ในปี 2017
                     อัตราการเติบโตดังกล่าวจะสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ให้บริการการชำระเงิน หน้าใหม่อีกหลายราย และนอกจากการชำระเงินออนไลน์แล้ว ระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless payment) ผ่านเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ เช่น ระบบ Google Pay และ Apple Wallet ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น

                    เมื่อเร็วๆ นี้ ซัมซุงยังได้ร่วมมือกับมาสเตอร์ การ์ด เปิดให้บริการ ซัมซุง เพย์ (Samsung Pay) ที่ผู้ใช้งานสามารถชำระเงินค่าสินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ขณะอยู่ภายใน ร้าน และระบบ LoopPay ที่ซัมซุงได้ซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ก่อนหน้านี้ จะช่วยเสริมให้ระบบชำระเงินแบบใหม่สามารถใช้งานร่วมกับ เครื่องอ่านบัตรแถบแม่เหล็ก แบบเดิมได้อีกด้วย หรือใช้ร่วมกับ เครื่องอ่านบาร์โค้ด

                    ทั้งนี้ การชำระเงินยุคดิจิตอลแม้จะมีบริการชำระเงินใหม่ๆ มาให้เลือกใช้ แต่ความนิยมของผู้บริโภคก็ยังต่ำกว่าที่ผู้ให้บริการคาดไว้ เนื่องจากไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย ผู้ให้บริการจึงคิดค้นระบบเสริมความปลอดภัยรูปแบบต่างๆ ขึ้น เช่น การใช้ข้อมูล biometrics เพื่อระบุและยืนยันตัวตนในระบบ Touch ID ของ Apple Pay และระบบ Smile to Pay ของ AliPay
                     นอกจากนี้ แอปเปิ้ล ยังต่อยอดนวัตกรรมด้านนี้ โดยการใช้ระบบ “Tokenization” ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงสุดในปัจจุบัน โดยระบบที่ว่าใช้วิธีสุ่มชุดตัวเลขและตัวอักษร หรือที่เรียกว่า token ขึ้น แล้วเข้ารหัสเพื่อส่งไปยังระบบบริการชำระเงินหรือร้านค้าออนไลน์ ที่จะถอดรหัสชุดข้อมูลนั้นเพื่อยืนยันการชำระเงิน แทนการใช้ข้อมูลที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง Personal Account Number (PAN) ของบัตรเครดิต

                    เมื่อระบบ “Tokenization” ของแอปเปิ้ล (Apple Pay) เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมอย่าง Google ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ด้วยบริการ Android Pay ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยี Tokenization มาใช้เสริมความปลอดภัยแก่การชำระเงินระบบ HCE (Host-Card Emulation) ทำให้ระบบนี้นอกจากจะมีข้อได้เปรียบด้านข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์แล้ว ยังมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

                    ในรายงานระบุอีกว่า การชำระเงินยุคดิจิตอล พัฒนาการของระบบชำระเงินจัดว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มแรก มีผู้ให้บริการหน้าใหม่ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ระบบ Tokenization นับได้ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นมาตรฐานหลักด้านความปลอดภัยของการชำระเงิน ในอนาคต ในยุคที่นวัตกรรมการชำระเงินใหม่ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น ระบบดังกล่าวจะสามารถเข้ามาช่วยปิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยและการปกป้อง ข้อมูลของระบบ EMV (EuroPay MasterCard and Visa) และ HCE และมีศักยภาพในการเป็นมาตรฐานใหม่ของระบบชำระเงินทั่วโลก

                    ความพยายามของ Visa และ MasterCard ที่จะผลักดันให้ระบบ HCE สามารถใช้งานบนโทรศัพท์มือถือได้นั้น ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้โทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบ NFC อยู่แล้วสามารถรองรับระบบ HCE ได้เพียงผ่านการอัพเกรดแอพพลิเคชั่น การที่โทรศัพท์มือถือสามารถใช้งานระบบ HCE ผนวกกับระบบ Tokenization ได้ (ซึ่งทำได้แล้วในกรณีของ Android Pay) จะพลิกโฉมของธุรกิจการชำระเงิน

                    อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของนวัตกรรมการชำระเงินขึ้นอยู่กับการยอมรับในวงกว้างจากผู้ บริโภคและร้านค้า ลูกค้าจะตัดสินใจใช้ระบบชำระเงินใหม่ๆ ก็ต่อเมื่อสามารถมั่นใจได้ว่าร้านค้าส่วนใหญ่รองรับระบบนั้น และเช่นเดียวกันร้านค้าเองย่อมเลือกลงทุนติดตั้งระบบใหม่ หากมั่นใจว่ามีลูกค้าใช้ระบบนั้นมากเพียงพอ เพราะการเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่อาจมีต้นทุนสูง ดังนั้นร้านค้าหลาย ๆ รายก็ยังใช้ระบบเดิมที่รับบัตรเครดิตผ่านเครื่องรูดบัตร ที่ยังมี ความปลอดภัยในระดับหนึ่งและคุ้มทุนกับการลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจของโลกที่เป็นอยู่นี้

                    ส่วนรูปแบบของบริการใหม่ๆ ที่เราจะได้เห็นในอนาคตนั้นที่รอการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ก็จะเกิดจากการนำเทคโนโลยีในหลายๆ ด้านมาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ร้านค้าและธนาคารอาจนำระบบ Tokenization มาใช้ชำระเงินภายในร้านแบบ contactless และติดตั้งระบบ HCE เพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องมือ NFC ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หรือนำระบบเดิมมาประยุกต์เข้ากับระบบใหม่ อย่างเครื่องรูดบัตรเครดิตและการเช็กยอดการหักบัญชีผ่านทางธนาคารผ่านมือถือ

                   นอกจากนี้เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์หรือระบบบริการชำระเงินอาจนำระบบ Tokenization ไปใช้เช่นกัน เช่น PayPal และ AliPay อาจใช้ token แทนการใช้อีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์ หรือรหัส PIN หลังบัตรเครดิต เพื่อเข้ารหัสข้อมูล ซึ่งหากข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างหมายเลขบัตรเครดิตของลูกค้าที่เดิมร้านค้า เป็นผู้เก็บรักษา จะสามารถถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลของระบบ Tokenization ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่า ก็ย่อมจะทำให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจในความปลอดภัยของระบบมากยิ่งขึ้น


Cr. คมชัดลึก,Synergy | Facebook , Asia21st