23 ก.ค. 2558

ที่มา วันเข้าพรรษา 2558

ที่มา วันเข้าพรรษา 2558
ที่มา วันเข้าพรรษา 2558

ที่มาของวันเข้าพรรษา

ในเรื่องความเป็นมาของวันเข้าพรรษา ถ้าว่ากันตามประวัติย่อๆ คือ ในยุคต้นพุทธกาล ก็ยังไม่มีการเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปี เมื่อพระภิกษุมีความเห็นว่าท่านควรจะไปเทศน์ ไปสอนญาติโยมที่ไหนได้ ท่านพอมีเวลา ท่านก็จะไป หรือไม่ได้ไปเทศน์ไปสอนใคร ถ้าเห็นว่าที่ไหนมันเงียบ มันสงัดดี เหมาะในการที่จะไปบำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิ(Meditation) ของท่าน ท่านก็จะไป ซึ่งแน่นอน ส่วนมากก็จะอยู่ในเขตที่เป็นป่าเป็นเขา ไกลๆออกไปจากตัวเมือง หรือว่าต้องผ่านไปในชนบทนั่นเอง
 
จากการที่ท่านต้องไปอย่างนี้ เนื่องจากในฤดูฝนที่เขาทำไร่ทำนากันอยู่นั้น บางครั้ง ข้าวกล้าของเขาก็เพิ่งหว่านลงไปในนา มันเพิ่งงอกออกมาใหม่ๆ บางทีก็ดูเหมือนหญ้า พระภิกษุก็เดินผ่านไป นึกว่ามันเป็นดงหญ้า ก็เลยย่ำข้าวกล้าของเขาไป ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็มาฟ้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระไปย่ำข้าวของเขาที่ปลูกเอาไว้ หว่านเอาไว้ นกกาฤดูฝนมันยังอยู่กับรังของมัน พระทำไมไม่รู้จักพักบ้าง

เพื่อตัดปัญหานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงกำหนดให้พระภิกษุ เมื่อเข้าพรรษา หรือเมื่อเข้าฤดูฝน ให้พระอยู่กับที่ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15 ค่ำเดือน11 ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ไปทำภาวนาที่ไหน ไม่ไปเทศน์โปรดใคร ถ้าใครต้องการให้โปรด ก็มาที่วัดก็แล้วกัน มาหาท่าน ไม่ใช่ท่านไปหาเขา กำหนดเป็นอย่างนี้ไป เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ใครมาบ่นลูกของพระองค์ได้
 
แต่อีกมุมมองหนึ่ง พระองค์ทรงถือโอกาสที่เกิดเป็นปัญหานี้ ได้ทรงเปลี่ยนคำครหาให้กลายเป็นโอกาสดีของพระภิกษุว่า ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุอยู่เป็นที่ในวัดวาอาราม เพื่อที่จะให้พระใหม่ได้รับการอบรมจากพระเก่าได้เต็มที่ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ในการอบรมถ่ายทอดศีลธรรม ถ่ายทอดธรรมวินัยให้แก่กันและกันนั้น ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นที่เป็นทางต่อเนื่องกันทุกวันทุกวัน อย่างนี้จะเป็นการดี การศึกษาธรรมะอย่างต่อเนื่องมีผลดี
เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยทรงกำหนดขึ้นมาว่า ให้พระภิกษุอยู่กับที่ในช่วงเข้าพรรษาอยู่ในวัด แล้วพระใหม่ก็ศึกษาหรือรับการถ่ายทอดธรรมะจากพระเก่า ส่วนพระเก่าก็ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ด้วย คือ สอนพระใหม่
 

เท่านั้นยังไม่พอ พระเก่าก็วางแผน กำหนดแผนการเลยว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ควรจะเดินทางไปโปรดที่ไหน นั่นก็อย่างหนึ่ง อีกทั้งปรับปรุงหลักสูตรวิธีการเทศน์การสอน การอบรมให้เหมาะกับท้องถิ่น ให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นต้น
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา

 

     
สำหรับชาวพุทธทั้งหลาย แต่โบราณ พอวันเข้าพรรษาก็ อธิษฐานพรรษากันเหมือนกัน อธิษฐานอย่างไร อธิษฐานอย่างนี้ พรรษานี้ สามเดือนนี้ ที่รู้ว่าอะไรเป็นนิสัยที่ไม่ดีในตัวเองที่มีอยู่ ก็อธิษฐานเลย พรรษนี้ (เลือกมาอย่างน้อยหนึ่งข้อ) เราจะแก้ไขตัวเองให้ได้ เช่น บางคนเคยกินเหล้า เข้าพรรษาแล้วก็อธิษฐานว่า พรรษนี้เลิกเหล้า เลิกเหล้าให้เด็ดขาด บางคนเคยสูบบุหรี่ ก็อธิษฐานว่า อย่างน้อยพรรษานี้จะเลิกบุหรี่ให้เด็ดขาด เป็นต้น เขาก็มีการอธิษฐานกันในวันเข้าพรรษา พรรษานี้จะละความไม่ดีอะไรบ้าง ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ให้พยายามละกัน คือ ทำตามพระให้เต็มที่นั่นเองในระดับของประชาชน

 

    สิ่งใดที่เป็นความดี ก็พยายามที่จะทำให้ยิ่งๆขึ้นไป เช่น เมื่อก่อนนี้ ก่อนจะเข้าพรรษา ตักบาตรบ้าง ไม่ตักบาตรบ้าง วันไหนมีโอกาสก็ทำ วันไหนชักจะขี้เกียจก็ไม่ทำ เมื่อพรรษานี้ พระอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาดีแล้ว ตั้งใจเลยที่จะตักบาตรให้ได้ทุกเช้า เมื่อก่อนไม่ทุกเช้า แค่วันเสาร์ วันอาทิตย์หรือวันโกนวันพระ พรรษานี้พระอยู่พร้อมหน้า อธิษฐานเลย จะตักบาตรทุกเช้าตลอดสามเดือนนี้ที่เข้าพรรษา นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่ปู่ย่าตาทวดทำกัน
นอกจากนี้ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธก็มาทำบุญกันตามวัดต่าง ๆ ในวันเข้าพรรษาเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของคนไทยที่นับถือพุทธศาสนาที่ได้ ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน สำหรับในปี 2558 นี้ วันเข้าพรรษาจะตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม ยังจัดเป็นวันหยุดสำหรับข้าราชการและเอกชนเพื่อให้ชาวพุธได้มาร่วมทำบุญกัน ในวันสำคัญนี้ สำหรับใครที่ยังไม่มีโปรแกรมและยังไม่ทราบว่า “ทำบุญวันเข้าพรรษา 2558 ที่ไหนดี” วันนี้เรามีสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจมาแนะนำกันค่ะ เริ่มจาก
 
ทำบุญเข้าพรรษาภาคกลาง

1. วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี สำหรับที่นี่จะมีประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็น จำนวนมาก
2. แห่เทียนพรรษาทางน้ำ ลาดชะโด จังหวัดอยุธยา เป็นอีกประเพณีหนึ่งของทางภาคกลางที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นการแสดงให้เห็นวิถี ทางน้ำของคนไทยในสมัยโบราณ ที่ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นที่สัญจร เพราะนอกจากจะมีการแห่เทียนทางน้ำแล้วที่นี่ยังมีการแสดงภาพวิถีชีวิตของชาว ลาดชะโด และการละเล่นพื้นบ้านกันอีกด้วย

ทำบุญเข้าพรรษาภาคเหนือ

วัดบุญยืนพระอารามหลวง เวียงสา จังหวัดน่าน ที่นี่จะมีประเพณีใส่บาตรเทียนที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นประเพณีที่อยู่คู่อำเภอเวียงสามาเป็นเวลานาน เริ่มจากที่สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ชาวบ้านจึงนำเทียนมาถวายวัด เริ่มต้นเดิมที่จะมีแต่ที่วัดบุญยืนต่อมาได้ขยายไปจนทั่วอำเภอเวียงสา

ทำบุญเข้าพรรษาภาคอีสาน

ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับที่นี่จะมีขบวนแห่เทียนเข้าพรรษาที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ด้วยเทียนที่ถูกสลักเสลาเป็นรูปต่างๆ อย่างงดงาม สำหรับในปี 2558 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 – 31 กรกฎาคม ณ บริเวณสนามทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และนอกจากขบวนแห่เทียนพรรษาที่งดงามแล้วภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีก หลายอย่าง เช่น งานทำบุญตักบาตร การแกะสลักเทียน การประกวดสาวงาม การจำหน่ายสินค้า และแสงสีเสียงในยามค่ำคืน

ทำบุญเข้าพรรษาภาคใต้

ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันเข้าพรรษาประชาชนที่นับถือพุทธศาสนาจะมารวมตัวกันที่ลานวัดเพื่อทำการ ตักบาตร แต่สิ่งที่นำมาใส่บาตรจะเป็นดอกไม้ธูปเทียน โดยจะมีพระภิกษุจากวัดพระมหาธาตุฯ และวัดอื่นๆ มารับบิณฑบาตเป็นแถวยาว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมงานบุญสักการะพระบรมธาตุ พระพุทธสิงหิงค์ และเกจิอาจารย์ชื่อดังต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต รวมไปถึงงานบันเทิงรื่นเริงอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ

ประเพณีเข้าพรรษาจัดเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวพุทธ และแต่ละภาคก็มีการจัดงานที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน เรามาร่วมทำบุญวันเข้าพรรษาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและเพื่อให้ประเพณีที่ ยังงดงามได้คงอยู่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าของชาวไทยสืบไป