เครื่องวัดทุเรียนแห่งแรก

ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ หัวหน้าโครงการงานวิจัยเครื่องวัดทุเรียน “เซ็นเซอร์ไมโครเวฟเพื่อการเกษตร” ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)วิทยาเขตชุมพร และคณะได้นำเสนอเครื่องมือวัด (Measuring Tool) เป็นเครื่องสแกนระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์วัดค่าความอ่อน-แก่ของทุเรียน เพื่อลดปัญหาชาวสวนตัดทุเรียนอ่อนจำหน่าย

ดร.โมไนย เปิดเผยว่า ประเทศไทยส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ1 ในภูมิภาค ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่มีปัญหาถูกตีกลับ เนื่องจากมีการปะปนทุเรียนอ่อนไม่ได้คุณภาพ สร้างความเสียหายมหาศาลส่งผลกระทบถึงราคาทุเรียนในประเทศทำให้ราคาตกต่ำ จึงได้งานวิจัยเครื่องวัดทุเรียนตรวจสอบความอ่อน-แก่ของผล ไม้ขึ้น โดยนำระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์มาปรับใช้ และจะนำมาใช้นำร่องอย่างเป็นทางการใน จ.ชุมพรเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ดร.โมไนย เปิดเผยอีกว่าสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ใช้เวลาศึกษาคิดค้นร่วม 10 ปี จากเดิมเครื่องวัดคุณภาพทุเรียนระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์ ใช้ทุนประมาณกว่า1ล้านบาทต่อเครื่อง ปัจจุบันได้พัฒนาย่อสัดส่วนให้เล็กกะทัดรัดใช้ท่อพีวีซีกับเครื่องไมโครเวฟ เซ็นเซอร์ ทำให้เหลือต้นทุนหลักหมื่นบาทเท่านั้น เครื่องมีขนาดกว้าง 2 ฟุต หนัก 2 กก.

มีขั้นตอนเครื่องวัดทุเรียนเริ่มต้น เลือกสุ่มทุเรียนไปวางไว้บนแท่นวัด จากนั้นจะส่งคลื่นไมโครเวฟผ่านทุเรียนไปยังสายอากาศตัวรับ ขณะที่คลื่นไมโครเวฟผ่านทุเรียน ขนาดของสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะถูกลดทอนลง และแปรผันไปตามความอ่อนหรือแก่ของทุเรียน จากนั้นข้อมูลจะส่งผ่านเครื่องส่ง-รับสัญญาณไปประมวลผลที่คอมพิวเตอร์ และทำการแสดงผลบนหน้าจอว่าทุเรียนนั้นอ่อนหรือแก่ ก็รู้ผลได้ทันที

ทาง นายวงศศิริ พรหมชนะ ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า จ.ชุมพรนับเป็นตลาดกลางส่งออกผลไม้ของภาคใต้ โดยเฉพาะทุเรียนมีอยู่จำนวนมาก ปีนี้คาดว่ามีผลผลิตอยู่ที่ 131,741 ตัน ส่งออก 123,009 ตัน โดยช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. จะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ยังไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว แต่มีทุเรียนออกสู่ตลาดทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น ทำให้มีการตัดทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย และมีการจับกุมดำเนินคดีมาแล้วหลายราย

ก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งด่านตรวจทุเรียนอ่อน เบื้องต้นจะประเมินด้วยสายตายังไม่มีเครื่องวัดทุเรียน หากสงสัยว่าอ่อน ก็จะนำตัวอย่างส่งศูนย์งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.ชุมพร ตรวจสอบด้วยกระบวนการอบความร้อนซึ่งต้องใช้เวลานาน งานวิจัยเครื่องวัดทุเรียนระบบ ไมโครเวฟเซ็นเซอร์ตรวจสอบความอ่อน-แก่ของผลไม้จาก สจล.ในครั้งนี้ ถือว่าชุมพรเป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรกของประเทศไทย และพร้อมที่จะนำไปไว้ตามหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทุกอำเภอใน จ.ชุมพร เพื่อใช้เป็นเครื่องวัดทุเรียนวัดค่าความอ่อน-แก่ของทุเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป.

Cr.ไทยรัฐ,Synergy Electronic | Facebook ,Asia21st