18 พ.ค. 2558

อาจารย์ใหญ่ หลวงพ่อคูณ



อาจารย์ใหญ่ หลวงพ่อคูณ

"อาจารย์ใหญ่ มีคุณค่ามาก เพราะนักเรียนแพทย์สามารถเรียนรู้การทำงานของร่างกาย เนื่องจากเราไม่สามารถเรียนรู้จากคนเป็นได้ นักศึกษาแพทย์เองจะได้ประโยชน์สูงสุด..." นั่นเรียกว่า "กายวิทยาทาน" ร่างของพระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) หรือหลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ก็เช่นกัน


ทำความรู้จักกับอาจารย์ใหญ่คือ..?
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงการบริจาคร่างกายหลังเสียชีวิต เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ของนักศึกษาแพทย์ หรือที่เรียกว่า "อาจารย์ใหญ่" นั้น ในระยะหลังการบริจาคไม่ค่อยขาดแคลนมากนัก เพราะมีคนเข้าใจและยอมรับในเรื่องนี้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตอบไป อาจจะไม่ทันสมัย เพราะหมอจะอยู่กับศพที่ผ่ามากกว่าศพที่เรียน
"อาจารย์ใหญ่ มีคุณค่ามาก เพราะนักเรียนแพทย์ สามารถเรียนรู้การทำงานของร่างกาย เนื่องจากเราไม่สามารถเรียนรู้จากคนเป็นได้ นักศึกษาแพทย์จะได้ประโยชน์สูงสุด แต่ว่าโดยหลักๆ การบริจาคเพื่อการเรียน จะต้องมีการเตรียมศพเพื่อการศึกษาก่อน มีรายละเอียดปลีกย่อยไม่น้อย ดังนั้นญาติหรือผู้เกี่ยวข้อง จำเป็นจะต้องรีบแจ้งทางหน่วยแพทย์ทันที เพราะแพทย์จะต้องฉีดสี ถ้าไปไม่ทัน อยู่ไกล รถไปไม่ถึง ก็อาจจะทำได้แค่การดอง"

อาจารย์ใหญ่ หลวงพ่อคูณ
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ อธิบายกระบวนการว่า 1. การฉีดสีเพื่อการศึกษา ถ้าเราทำได้ตามเวลา เราจะเรียนรู้จากอาจารย์ใหญ่ที่สมบูรณ์ คือ เมื่อฉีดสีเข้าไป สีของเส้นเลือดแดงจะเป็นสีแดง สีของเส้นเลือดดำ จะเป็นสีน้ำเงิน นี่คือสิ่งที่ต้องทำก่อนการดอง 2. ก่อนนำไปดอง กระบวนการของการดอง คือการหยุดการเน่า คือจะต้องใช้เวลา

"คนที่ต้องการบริจาคร่าง ก็สามารถเดินเข้าไปแจ้งความประสงค์กับทางโรงพยาบาลที่มีเปิดคณะแพทย์ เขาจะให้เซ็นยินยอม ทำบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกาย ซึ่งถือเป็นบัตรติดตัวเรา เพราะหากเกิดอะไรขึ้น เขาจะดูบัตร จากนั้นก็จะรีบติดต่อไปทางโรงพยาบาลทันที เพื่อให้ได้อาจารย์ใหญ่ที่สมบูรณ์ สำหรับกระบวนการเรียนรู้จากอาจารย์ใหญ่ 1 ปี คือ นักศึกษา 1 กลุ่ม ต่อศพอาจารย์ใหญ่ 1 ศพ ทั้งนี้หลังจากเรียนรู้เสร็จ ก็ไม่สามารถนำอาจารย์ใหญ่ไปทำอะไรต่อได้ เนื่องจากได้มีการรื้อเส้นเลือด รื้ออวัยวะของอาจารย์ใหญ่แล้ว แต่การบริจาคเป็นอาจารย์ใหญ่ ก็สามารถบริจาคได้เป็นชิ้นส่วน เช่น เฉพาะท่อนอก เป็นต้น"

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวอีกว่า หลังจากกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์เสร็จสิ้น เขาจะนำร่างอาจารย์ใหญ่ไปประกอบพิธีทางศาสนา โดยทำตามวัตถุประสงค์ที่ตกลงไว้ ส่วนกรณีหลวงพ่อคูณ หมอคงตอบไม่ได้ เพราะเราไม่เห็นพินัยกรรมของท่าน เพราะมันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ เช่น การเก็บไว้เคารพบูชาก่อน เป็นต้น
คู่มือบริจาคร่างกาย..
โรงพยาบาลแต่ละแห่ง จะมีรายละเอียดการบริจาคร่างกายแตกต่างกันไป เราขอหยิบยกของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลศิริราช มาเป็นตัวอย่าง โดยมีรายละเอียดดังนี้
วัตถุประสงค์ของการบริจาคร่างกาย
เพื่อให้นักศึกษาแพทย์นำไปศึกษา หรือที่เรียกว่าเป็น "อาจารย์ใหญ่"
การบริจาคร่างกายแยกออกเป็น 3 แบบ
1. บริจาคเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา ระยะที่ใช้ในการเรียน 3 ปี
2. บริจาคเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
3. บริจาคเพื่อให้ภาควิชาฯ เก็บโครงกระดูกเพื่อการศึกษาตลอดไป
****ในการบริจาคร่างกายนั้นสามารถเลือกได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งค่ะ
เอกสารที่ใช้
- รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ เขียนชื่อ-นามสกุลที่ด้านหลังรูปให้ชัดเจน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ (รับรองสำเนาถูกต้อง)
ขั้นตอนการบริจาคร่างกาย
1. กรอกแบบฟอร์ม ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านด้วยตัวบรรจง
2. ระบุ ชื่อ-นามสกุล ผู้แจ้งการถึงแก่กรรม (ผู้แจ้งการถึงแก่กรรมหมายความถึง ผู้ที่เต็มใจจะรับเป็นธุระในการแจ้งให้ภาควิชาฯ ไปรับศพของผู้บริจาคร่างกายเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับมรดกอื่นใดของผู้บริจาคร่างกาย)
3. ส่งแบบฟอร์มที่กรอกแล้วพร้อมรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ ทางไปรษณีย์มาที่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 เขียนที่มุมซองว่า “บริจาคร่างกาย”
4. รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคได้ภายใน 1 เดือน โดยให้ระบุว่าต้องการรับด้วยวิธีใด
4.1  รับทางไปรษณีย์เป็นจดหมายลงทะเบียน (ต้องมีคนอยู่บ้านเพื่อลงชื่อรับ)
4.2  มารับบัตรด้วยตัวเอง ติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-419-7036, 02-419-7588
5. หากทำบัตรหายกรุณาโทรศัพท์แจ้งภาควิชาฯ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-419-7036, 02-419-7588
6. หากผู้บริจาคเปลี่ยนแปลงที่อยู่กรุณาแจ้งภาควิชาฯ ทราบด้วย
7. ท่านที่ต้องการยกเลิกพินัยกรรมฉบับนี้ ไม่ต้องแจ้งให้ภาควิชาฯ ทราบ จะไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายแต่ประการใด
****หมายเหตุ*** สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มพินัยกรรมบริจาคร่างกายได้ โดยปริ้นท์ออกมาเป็นหน้า-หลัง จำนวน 2 ชุด เนื่องจากทางภาควิชาจะได้เก็บไว้ 1 ชุด และส่งคืนผู้บริจาค 1 ชุด และเหตุที่ต้องปริ้นท์หน้า-หลัง จะได้ทราบว่าเป็นพินัยกรรม เมื่อเวลาผ่านไป
***ผู้บริจาคควรปฏิบัติตามข้อกำหนดในการกรอกและส่งแบบฟอร์มอย่างเคร่ง ครัด และถูกต้อง มิฉะนั้น ถ้าไม่ได้ข้อมูลครบถ้วน จะถือว่าเป็นโมฆะ
หรือเมื่อส่งใบบริจาคมาแล้วสามารถโทรมาติดตามได้ ตามเบอร์โทรที่ให้ไว้ 02-419-7036, 02-419-7588

แบบที่ 1 บริจาคเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา
ข้อจำกัด
- ขณะเสียชีวิตอายุต้องไม่เกิน 80 ปี น้ำหนักโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม
- ไม่เป็นศพเกี่ยวกับคดี
- ไม่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง, โรคไต, โรคเบาหวาน และอุบัติเหตุ
- ไม่เป็นศพที่มีสภาพไม่เหมาะสม เช่น ศพเน่าเปื่อย อวัยวะขาดหายไปไม่ครบสมบูรณ์ ยกเว้นกรณีบริจาคดวงตา
- ที่เก็บศพของภาควิชาฯ เต็ม
แบบที่ 2 บริจาคเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
ข้อจำกัด
- ไม่เคยผ่าตัดบริเวณข้อต่อต่างๆ
- เมื่อเสียชีวิต ญาติต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ ให้มารับศพทันที
- ให้ญาติตัดผม และเล็บของศพใส่โลงเพื่อสวดทำบุญ
- ไม่ฉีดยารักษาศพ
แบบที่ 3 บริจาคเพื่อเก็บโครงกระดูกใช้ในการศึกษา
ข้อจำกัด
- ขณะเสียชีวิตอายุต้องไม่เกิน 55 ปี
- ญาติสามารถนำอวัยวะบางส่วนของศพดอง ไปทำพิธีทางศาสนาได้
- ไม่ฉีดยารักษาศพ เพราะจะทำให้ไม่สามารถเก็บเป็นโครงกระดูกได้
พื้นที่ที่รับบริจาคร่างกาย
รับเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปทุมธานี นครปฐม สุพรรณบุรี (ไม่รับ อ.ด่านช้าง, อ.หนองหญ้าไซ, อ.เดิมบางนางบวช, อ.สามชุก) พระนครศรีอยุธยา (ไม่รับ อ.ท่าเรือ) ราชบุรี (ไม่รับ อ.สวนผึ้ง, อ.จอมบึง) กาญจนบุรี (รับเฉพาะ อ.เมือง, อ.ท่าม่วง, อ.พนมทวน, อ.ท่ามะกา)
ข้อปฏิบัติเมื่อผู้บริจาคร่างกายเสียชีวิต
- ห้ามฉีดยากันศพเน่า เจ้าหน้าที่ของภาควิชาฯ จะไปฉีดให้
- โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ ภายใน 24 ชั่วโมง ให้ไปตรวจสภาพศพ และฉีดยารักษาสภาพศพ ที่หมายเลข 02-419-7028, 02-419-7030, 02-411-2007
- ญาติเป็นผู้ดำเนินการเรื่องใบมรณบัตร และจัดหาหีบศพเอง

ข้อปฏิบัติเมื่อได้รับศพของผู้บริจาคร่างกาย
- บริการฉีดยา และรับศพหลังเสร็จพิธี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
- ให้ญาติสวดตามประเพณีนิยมได้ไม่เกิน 5 วัน
- ศพของผู้บริจาคร่างกายจะจัดเก็บที่อาคารกายวิทยาทาน ต.ศาลายา จ.นครปฐม
- ออกหนังสือรับรองการรับศพของผู้บริจาคร่างกายภายใน 2 วัน
- จัดส่งใบอนุโมทนาบัตร หลังจากรับศพของผู้บริจาคร่างกายภายใน 1 เดือน
ข้อแนะนำในการเข้าร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ
- จัดประมาณเดือนเมษายนของทุกปี
- ญาติเข้าร่วมพิธีได้ไม่เกิน 4 คน
- ภาควิชาฯ มีรถบริการให้ญาติที่เข้าร่วมพิธีจากโรงพยาบาลศิริราชไปที่อาคารกายวิทยาทาน ต.ศาลายา จ.นครปฐม
- ญาติสามารถนำศพของผู้บริจาคร่างกายที่ศึกษาเสร็จแล้วไปประกอบพิธีทางศาสนาเองได้
- จัดเก็บอัฐิของผู้บริจาคร่างกายไม่เกิน 5 ปี
เอกสารที่ใช้ประกอบการทำหนังสือที่ระลึกในพิธีพระราชทานเพลิงศพ
- รูปถ่ายของผู้บริจาคร่างกายขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 1 ใบ
- ประวัติส่วนตัวของผู้บริจาคร่างกาย
- คำไว้อาลัยของญาติ
ขณะที่รายละเอียดของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูได้ ที่นี่ ส่วนของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีข้อกำหนด ซึ่งสามารถดูได้จาก ที่นี่ .

รู้หรือไม่ว่า ขั้นตอนร่างอาจารย์ใหญ่หลวงพ่อคูณหลังจากนี้เป็นอย่างไร ? รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยา ลัยขอนแก่น กล่าวในข่าวไทยรัฐออนไลน์ไว้ว่า หลังจากที่ได้เปิดให้ประชาชนที่ศรัทธาได้เข้ากราบนมัสการรดน้ำศพ หลวงพ่อคูณที่ รพ. มหาราชนครราชสีมาแล้ว จะได้ขอกราบนำสรีระร่างของหลวงพ่อคูณไปที่ มข. เพื่อฉีดน้ำยาเพื่อรักษาสรีระของท่านให้พร้อมที่จะเป็นครูใหญ่ต่อไป ก่อนจะเคลื่อนไปที่หอประชุมกาญจนาภิเษก และจะบำเพ็ญกุศลสรีระท่านเป็นเวลา 7 วัน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปกราบนมัสการท่านได้โดยจะเป็นเจ้าภาพร่วม ระหว่างคณะทำงานที่ทาง มข.ตั้งขึ้น และทางคณะทำงานของ จ.นครราชสีมา ตั้งขึ้น และมีการเชิญส่วนราชการเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพ เรามีความตั้งใจที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์เจตนารมณ์ของหลวงพ่อ และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนกระบวนการที่จะนำสรีระร่างท่านไปใช้เพื่อการศึกษา คือ จะมีการนำร่างท่านไปดอง 1 ปี เราได้สั่งทำอ่างแก้วเป็นกรณีพิเศษ หากญาติโยมจะเข้าไปกราบก็สามารถเข้ามาได้ จากนั้นจะนำร่างขึ้นมาให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนเป็นระยะเวลา 2 ปีการศึกษา เมื่อครบการศึกษาแล้ว ก็จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในปีที่ 3 จะมีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษสำหรับครูใหญ่ทุกคนที่ทาง มข.ได้ขอไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะมีหลวงพ่อคูณและครูใหญ่ทำพิธีพร้อมกันด้วย.

Cr.ไทยรัฐ