เสือใบ อดีตขุนโจรชื่อดัง |
วันที่ 24 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายใบ สะอาดดี หรือ "เสือใบ" อดีตจอมโจรชื่อดัง ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 10.38 น.ที่ผ่านมา ด้วยวัย 94 ปี ที่ รพ.พระมงกุฎฯ
โดยญาติ จะนำศพกลับบ้าน ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันพรุ่งนี้ เวลา 11.00 น. และจะตั้งบำเพ็ญกุศพที่ วัดตำลึงพัน จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิด โดยจะสวด 7 วัน ก่อนจะทำพิธีฌาปนกิจวันอังคารที่ 2 มิถนายน 2558
ทั้งนี้ "เสือใบ" มีชื่อจริงว่า นายใบ สะอาดดี เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจอมโจรชื่อดังในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมสมัยกับ เสือดำ, เสือหวัด, เสือฝ้าย, เสือมเหศวร เป็นต้น โดยเสือใบจะออกปล้นในแถบภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดลพบุรี โดยเวลาออกปล้นจะแต่งชุดสีดำ สวมหมวกดำ และปล้นด้วยความสุภาพ จนได้รับฉายาว่า "สุภาพบุรุษเสือใบ"
สำหรับประวัติของเสือใบ หรือนายใบ สะอาดดี ก่อนจะเป็นโจร เป็นชาวนาอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี พอช่วงปี 2487 ตอนนั้นอายุประมาณ 30 ปี ที่บ้านถูกโจรวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเข้ามาขโมยควาย ตอนนั้นไม่คิดแค้นอะไร เพราะไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่อีก 5 เดือนต่อมา โจรกลุ่มเดิมกลับมาปล้นที่บ้านอีกครั้ง คราวนี้ฉุดน้องเมียไปด้วยจึงแค้นมาก คว้าปืนลูกซองออกตามล่าโจร และตามน้องเมียกลับคืนมา สุดท้ายฆ่าโจรตายไป 2 ศพถูกตำรวจตามจับ จึงหนีออกจากบ้านเข้าสู่เส้นทางสายโจรมาอาศัยในป่าแถบอำเภอเดิมบางนางบวช สังกัดเสือฝ้าย“
ต่อมาเสือใบ แยกตัวเป็นอิสละ จนมีชื่อเสียงในวงการโจร มีลูกน้องถึง 40 คน เสือใบจะออกปล้นอยู่ในเขต จ.อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท ส่วน จ.สุพรรณบุรี จะไม่ปล้นเพราะเป็นเขตอิทธิพลของเสือฝ้าย ถือว่าเป็นเขตเดียวกันจะไม่เข้าไปรบกวน
โดยเลือกปล้นเฉพาะคนรวยหน้าเลือด ได้เงินจากการโกงคนจน คนรวยที่มีคุณธรรมช่วยเหลือชาวบ้านจะไม่ปล้น และการปล้นแต่ละครั้งจะไม่เอาทรัพย์สินหมดเอาเพียงครึ่งเดียว ใช้วิธีการปล้นแบบขอเจ้าทรัพย์ สิ่งไหนเจ้าทรัพย์ไม่ให้ก็ไม่เอา และห้ามทำร้ายเจ้าทรัพย์เด็ดขาด ยกเว้นจะขัดขืนหรือต่อสู้ เมื่อปล้นมาได้จะนำทรัพย์สินบางส่วนมาช่วยคนจน กระทั่งถูกตำรวจจับ ซึ่งตำรวจผู้ปราบเสือใบก็คือ "ผู้กองยอดยิ่ง สุวรรณากร"“
โดยศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาได้รับการอภัยโทษเหลือจำคุก 20 ปี เมื่อขณะถูกจำคุกมีพฤติกรรมหนึ่งที่น่ายกย่องคือ การช่วยเหลือผู้คุมให้รอดพ้นจากการถูกทำร้ายจากนักโทษ
เหตุการณ์ครั้งนั้นเลยได้ลดโทษให้ออกจากคุก โดยเสือใบได้ให้ข้อคิดถึงเยาวชนรุ่นหลังว่า "ให้ลูกหลานที่เกเรรู้ว่าการเป็นโจร เป็นเสือ มันไม่ดีเพราะต้องอยู่อย่างหลบซ่อนตัว ตลอดเวลาและทรัพย์สินที่ปล้นมาอยู่ได้ไม่นาน จึงอยากให้ทุกคนตั้งใจทำงาน ขยันหมั่นเพียรเข้าไว้ อยากได้อะไรก็เก็บหอมรอมริบเอา เดี๋ยววันหนึ่งเราจะได้ในสิ่งที่ต้องการ"“
และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยังได้เข้าร่วมกับขบวนการ "ไทยถีบ" ดักปล้นและถีบสินค้าหรืออาวุธของทางทหารญี่ปุ่นจากขบวนตู้รถไฟด้วย "เสือใบ" ถูกปราบได้โดยนายตำรวจมือปราบชั้นยอด คือ "ขุนพันธรักษ์ราชเดช"
เรื่องราวของ เสือใบ โด่งดังเป็นที่รู้จักกันอย่างมาก จนกลายมาเป็นวรรณกรรมของ "ป. อินทรปาลิต" ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สองครั้ง
ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 ชื่อ "สุภาพบุรุษเสือใบ" ผู้รับบทเสือใบ คือ "ครรชิต ขวัญประชา" และในปี พ.ศ. 2541 ในเรื่อง เสือ โจรพันธุ์เสือ ที่ซึ่งบทเสือใบ นำแสดงโดย อำพล ลำพูน กำกับการแสดงโดย ธนิตย์ จิตนุกูล
Cr.ไทยรัฐ,เดลินิวส์