8 พ.ค. 2558

คลังอุ้มเกษตรกร เอสเอ็มอี และ ท่องเที่ยว

 
อุ้มเกษตรกร เอสเอ็มอี และ ท่องเที่ยว

อุ้มเกษตรกรช่วยเอสเอ็มอี-ลดภาษีท่องเที่ยว
คลังจ่อชงแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอนายกรัฐมนตรีวันนี้ เน้นดูแลเกษตรกร ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากที่สุด โดยจะช่วยสินเชื่อดอกต่ำ ชี้หากได้รับการดูแลเพิ่มขึ้นจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่เตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ 4 พันล้านบาท ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 58 ดอกเบี้ยคงที่ 3% อายุ 3 ปี

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกระทรวง การคลังในวันศุกร์ที่ 29 พ.ค.นี้ โดยแพ็กเกจที่เสนอจะเน้นไปที่การดูแลเกษตรกร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ หากได้รับการดูแลเพิ่มขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

โดยขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดตกต่ำ กระทบต่อเกษตรกรหลายภาคส่วน รวมถึงกำลังซื้อที่ลดลง ดังนั้น แนวทางในการดูแลคือ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรเหล่านี้สามารถขายสินค้าได้ราคาที่สูงขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้หารือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์เอกชนและธนาคารเฉพาะกิจ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งแนวทางหลักที่ช่วยได้ คือ การปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกัน ก็มีข้อเสนอที่จะให้กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีนำสินค้าเกษตรมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรต่างๆ โดยสถาบันการเงินจะสนับสนุนด้านเงินทุนให้

“ผมได้คุยกับธนาคารเฉพาะกิจและธนาคารเอกชน เขาพร้อมที่จะช่วยเหลือผ่านการสนับสนุนสินเชื่อให้ ทั้งกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและเกษตรกร ขณะนี้กำลังคิดร่วมกันว่า ในแง่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนั้น จะผ่อนปรนได้แค่ไหน และรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนด้านใดได้บ้าง ก็จะต้องนำเรียนท่านนายกฯในการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานกระทรวงการคลังปลาย เดือนนี้”

นายรังสรรค์กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคธุรกิจท่องเที่ยวนั้น ภาคธุรกิจนี้ถือเป็นภาคธุรกิจใหญ่ เพราะมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก กระทรวงการคลังจึงคิดที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยใช้นโยบายการคลัง ซึ่งขณะนี้ แม้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการนำค่าใช้จ่ายจากที่พักและการเดินทาง ท่องเที่ยวในประเทศมาลดหย่อนภาษีได้ แต่เราก็คิดว่าจะเพิ่มเติมมาตรการลดหย่อนด้วยวิธีต่างๆได้อีก หรืออาจจะให้สิทธิในการลดหย่อนได้มากขึ้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรไปหาแนวทางลดหย่อนให้เพิ่มขึ้นแล้ว

“นอกจากจะต้องมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้นว่า กระทรวงการคลังมีมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวในประเทศแล้ว เรากำลังคิดว่าจะเพิ่มเติมมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศให้ เพิ่มขึ้นด้วย เพราะธุรกิจท่องเที่ยวนี้มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก หากได้รับการสนับสนุนเพิ่ม จะกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมสรรพากรไปหาแนวทางในการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยมอบแนวคิดที่จะให้ใช้ใบเสร็จรับเงินในการใช้จ่ายจากร้านค้าต่างๆมาชิง รางวัลจากกรมสรรพากร ทั้งนี้ที่ผ่านมา เราเคยนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ภายใต้โครงการใบกำกับภาษีมีรางวัล ซึ่งก็ช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ระดับหนึ่ง และรวมถึงได้ผลทางอ้อมที่จะจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าสู่ระบบภาษีด้วย แต่กลับพบว่าใบกำกับภาษีที่นำมาชิงรางวัลนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษีอยู่ แล้ว ขณะที่หนึ่งในเป้าหมาย คือ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งไม่พบว่าได้มีการใช้ใบกำกับภาษีจากกลุ่มธุรกิจนี้เท่าใดนัก

“เราเคยศึกษางานจากประเทศไต้หวัน ซึ่งเขาจะใช้เลขที่ใบเสร็จที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างๆทั้งขนาดเล็กและขนาด ใหญ่มาจับรางวัล โดยที่เจ้าของใบเสร็จนั้นไม่จำเป็นต้องส่งใบเสร็จมาชิงโชค แต่สรรพากรจะเป็นผู้จับและประกาศรางวัล หากตรงกับเลขที่ใบเสร็จใด ก็สามารถเข้ารับรางวัลได้ ซึ่งผมก็มอบเป็นแนวคิดให้กับกรมสรรพากร”

นายรังสรรค์ยังกล่าวว่า สำหรับแนวทางในการปฏิรูปภาษีนั้น ในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นฝ่ายปฏิบัติก็ยังเดินหน้าในการปฏิรูปภาษีเช่น เดิม โดยหากมีความพร้อมทั้งในส่วนของประชาชนและรัฐบาล กระทรวงการคลังก็พร้อมเสนอเข้าสู่การพิจารณาทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่า กระทรวงการคลังจะดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในปี งบประมาณปี 58 โดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง (รุ่นทั่วไป) ในปีงบประมาณ 58 ครั้งที่ 2 วงเงิน 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี อายุ 3 ปี เป็นแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) โดยมีวงเงินซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท (1 หน่วย) และวงเงินซื้อขั้นสูง 2,000,000 บาท (2,000 หน่วย) ชำระดอกเบี้ยปีละ 2 งวด คือ วันที่ 11 พ.ค. และ 11 พ.ย.ของทุกปี ผู้ที่สนใจซื้อพันธบัตรสามารถทำรายการซื้อผ่านเคาน์เตอร์ทุกสาขาและเครื่อง ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 11 พ.ค.-31 ส.ค.นี้.

Cr.ไทยรัฐ