ปรับใหม่เวลาโลกใหม่ 1 ก.ค 2558 |
เวลามาตรฐานโลกเพิ่มขึ้นอีกมา 1 วินาที หมายถึง โลกใบนี้เดินช้าลงอีก 1 วินาที นั่นเอง
ข้อมูลจาก Trueplookpanya. และ “มิเรอร์” เว็บไซต์ชื่อดังรายงานไว้ว่า ปีนี้ชาวโลกจะมีเวลาเพิ่มขึ้นกว่าปกติอีก 1 วินาที หรือที่เรียกกันว่า อธิกวินาที ซึ่งหมายถึง การเพิ่มขึ้น 1 วินาที ลักษณะคล้ายกับปีอธิกสุรทิน ซึ่งปกติใน 1 ปีจะมีเพียง 365 วัน แต่ปีอธิกสุรทินมี 366 วัน เพราะเดือนกุมภาพันธ์ในปีนั้น มี 29 วัน
หลายคนคงสงสัยต่อ แล้วจะเพิ่มอีก 1 วินาทีเข้าไปตรงส่วนไหน?
คำตอบก็คือ จะมีการเพิ่มวินาทีพิเศษนี้เข้าไปที่ ณ เวลา 23:59:60 น. ของคืน วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ทำให้วันดังกล่าวมีเวลา 86,401 วินาที ซึ่งเป็นไปตามประกาศของ องค์กรให้บริการระบบอ้างอิงและติดตามการหมุนของโลกสากล (International Earth Rotation and Reference Systems Service: IERS) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ส่วนสาเหตุที่ต้องเพิ่มอีก 1 วินาทีเข้าไป ซึ่งทำให้เวลาของโลกใบนี้ช้าลง 1 วิ ก็เพื่อต้องการ รักษามาตรฐานการประกาศเวลาให้ใกล้เคียงกับเวลาสุริยะ ซึ่งรักษาไว้ด้วยนาฬิกาอะตอมที่มีความเที่ยงตรงสูง
มนุษย์ขี้สงสัยบางคนแอบตั้งข้อสังเกต เมื่อเวลาในโลกเพิ่มขึ้น จะทำให้คนเราแก่ช้าลง 1 วินาทีด้วยใช่หรือไม่ แม้คำตอบจะเป็นใช่
แต่ในโลกแห่งความจริง เวลาแค่วินาทีเดียวแทบจะไม่มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่
แต่ 1 วินาทีเท่ากัน...อาจมีค่ามหาศาล หรือความหมายใหญ่หลวง สำหรับใครบางคนเมื่อมันถูกใช้เป็นตัวตัดสินชะตากรรมบางอย่าง เช่น การทำสถิติที่ดีที่สุดในการแข่งขันทุกประเภท ที่ต้องตัดสินกันด้วยความเร็ว หรือความทันท่วงทีในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจ เพื่อไม่ให้หัวใจวาย เป็นต้น
การที่ทั่วโลกยึดถือมาตรฐานเวลาเดียวกัน การประกาศเพิ่มเวลาพิเศษขึ้นมาอีก 1 วินาที ยังทำให้เกิดความหวั่นเกรงกันว่า อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของ อินเตอร์เน็ต ทั่วโลก
เพราะจากบทเรียนการเพิ่มเวลาโลกคราวที่แล้ว ได้ส่งผลกระทบแก่บางเว็บไซต์ เช่น Mozilla, Foursquare, Stumble Upon, Yelp, Reddit และ LinkedIn ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการแบบ Linux และเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Java ได้เกิดอาการเว็บฯล่ม แบบถล่มทลาย มาแล้วเมื่อปี 2555
ส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทั่วไปในปัจจุบัน แม้จะสามารถปรับเวลาอัตโนมัติผ่านเซิร์ฟเวอร์ NTP (Network Time Protocol) ซึ่งจะปรับให้เวลาของทุกอุปกรณ์ในโลกนี้ตรงกัน แต่ปัญหาอยู่ที่ คอมพิวเตอร์ ยังไม่เข้าใจการเพิ่มอธิกวินาที
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อ Google เพราะความชาญฉลาดของทีมวิศวกรของกูเกิ้ล ได้วางแผนและเตรียมการเอาไว้เป็นอย่างดี โดยใช้เทคนิค การกระจายเศษวินาที (Leap Smear) ออกเป็นระดับมิลลิวินาที (Leap Second) ด้วยการค่อยๆเพิ่มเวลาอึดใจเล็กๆเข้าไปในระบบ ก่อนที่จะมีการปรับอธิกวินาที จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนอีกหลายเว็บไซต์
มีรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะมีการปรับเวลาใหม่ของโลกให้ช้าลง 1 วินาที สหรัฐเมริกา และ บางประเทศ ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า การปรับเวลาดังกล่าวอาจไปกระทบหรือรบกวน ระบบนำทาง ระบบสื่อสาร หรือ ระบบระบุตำแหน่ง (GPS) ที่ยึดการทำงานกับเวลา ซึ่งอาจส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงิน และระบบคอมพิวเตอร์นำร่อง ในยานพาหนะต่างๆ ที่เคยทำงานอย่างเที่ยงตรง เกิดความผิดพลาดขึ้นได้
แต่ อังกฤษ ยังคงต้องการให้มีการปรับ “อธิกวินาที” เพราะเห็นว่า การหมุนของโลกเป็นตัวกำหนดเวลามาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงต้องมีการเพิ่มอธิกวินาที เพื่อรักษาเวลามาตรฐานกรินิช (Greenwich Mean Time) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2390 โดยอาศัยหลักการหมุนรอบตัวเองของโลกและความสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์
ถ้าไม่ปรับ อาจเปลี่ยนความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเวลาไปโดยสิ้นเชิง เพราะจะทำให้การขึ้นลงของดวงอาทิตย์เพี้ยนไป ในที่สุดประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ มีมติยอมรับการปรับเพิ่มเวลาโลกให้ช้าลงอีก 1 วินาที
เรามักเคยเรียนกันมาว่า การที่โลกหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ เป็นเวลาเท่ากับ 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าคำนวณออกมาเป็นวินาทีอย่างละเอียดแล้ว ใน 1 วัน โลกจะหมุนรอบตัวเอง เท่ากับ 86,164.098 903 691 วินาที หรือ 23 ชั่วโมง 56 นาที 4.098 903 691 วินาที ที่ว่า 1 วันมี 24 ชั่วโมง เป็นเพียงตัวเลขประมาณการ เพื่อให้จดจำได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
การปรับเพิ่มเวลาโลก มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2515 หรือ 43 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ ระบบอินเตอร์เน็ต จะถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ดังเช่นทุกวันนี้ การปรับเพิ่ม 1 วินาที ในคืนวันที่ 30 มิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้ ถือเป็นการปรับเวลาครั้งที่ 26 ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งหากอ้างอิงจากเวลาของนาฬิกาเชิงอะตอมก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเวลาอีกครั้ง เท่ากับว่าโลกใบนี้ได้หมุนช้าลงไปถึง 26 วินาทีแล้ว
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ปกติทุกวันนี้โลกของเราหมุนรอบตัวเองช้าลงกว่าเดิม เฉลี่ยวันละ 1/2,000 วินาที หรือทุก 100,000 ปี โลกจะหมุนรอบตัวเองช้าลง 2.2 วินาที
เทียบกับเมื่อยุคเริ่มแรกที่โลกถือกำเนิดขึ้นในจักรวาล นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับโลกอย่างละเอียด เชื่อว่า โลกเคยหมุนรอบตัวเองด้วยเวลาเพียง 12 ชั่วโมง หรือเคยหมุนรอบตัวเองเร็วกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า
พวกเขาเชื่อว่า การที่โลกหมุนช้าลง เป็นเพราะแรงเสียดทานที่ โลกกระทำกับมหาสมุทรช่วงที่เกิดน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ช่วงของวันยาวขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ในเวลา 23:59:59 น.ของวันที่ 30 มิ.ย.2558 หลายประเทศทั่วโลกจึงมีการปรับเวลาใหม่ เพื่อให้ตรงกับเวลาสุริยะ (Solar Time) ส่วนเมืองไทย เริ่มปรับเวลาใหม่ช่วงเช้าวันที่ 1 ก.ค.
โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ผู้รักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทย ได้ออกประกาศเรื่อง เปลี่ยนแปลงเวลามาตรฐานประเทศไทย โดยจะทำการเปลี่ยนแปลงเวลามาตรฐานประเทศครั้งใหญ่ ใน วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จากเวลา 07 นาฬิกา 00 นาที 01 วินาที เป็นเวลา 07 นาฬิกา 00 นาที 00 วินาที เพื่อให้สอดรับกับการปรับเวลาตามมาตรฐานสากล
เมื่อเวลานั้นมาถึง ทุกคนในเมืองไทย ไม่ว่ายาก ดี มี จน จะมีเวลาเพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน อีกคนละ 1 วินาที.
Cr.ไทยรัฐ,เล่าสู่กันฟัง , Asia21st