แอร์เมส เปิดนิทรรศการ "Festival des Metiers" |
แอร์เมสเข้าสู่โลกแฟชั่นมายาวนาน จัดเป็นแบรนด์ระดับสูงทั้งด้าน "คุณภาพ" และ "ราคา" กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ลำดับต้น ๆ ของโลกได้ เบื้องหลังการทำงานของแบรนด์ซูเปอร์ลักเซอรี่ย่อมต้องไม่ธรรมดา ยอมทุ่มลงทุนด้วยเวลาและคัดสรรช่างฝีมือชั้นสูงมาประกอบสินค้าแบบชิ้นต่อชิ้น
ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นแอร์เมสเปิดหลังบ้านให้ชมการทำงานโดยมีช่างมืออาชีพมาสาธิตการทำแบบสดๆให้เห็นกับตา เพื่อดูว่าช่างแอร์เมสใช้ความพิถีพิถันในการทำงานมากขนาดไหน
ต้นเดือนมีนาคม แอร์เมสได้ขนทัพช่างมือดีมาสาธิตการทำงาน ในรูปแบบนิทรรศการ "Festival des Metiers" ประหนึ่งยกช็อปที่ฝรั่งเศสมาไว้เมืองไทยที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นิทรรศการที่บอกเล่าความเป็นมาของแอร์เมสแบรนด์เก่าแก่กว่า 178 ปี ถ่ายทอดความสมบูรณ์ลงในแบรนด์ ตั้งแต่การคัดสรรวัสดุที่มีคุณภาพ การออกแบบที่ตอบโจทย์ในการใช้งานและสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร โดยมีหัวใจสำคัญคือ "ทำด้วยมือ" ด้วยทักษะความชำนาญของช่างฝีมือที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และสืบต่อกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น
ภายในงานนี้มีการสาธิตงานช่างฝืมือ 7 สาขา ที่บินตรงมาจากฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นช่างเครื่องหนัง, ช่างพิมพ์ผ้าไหม, ช่างอานม้า, ช่างทำลายผ้าไหม, ช่างทำเนกไท, ช่างทำนาฬิกา และช่างทำจิวเวลรี่
ทุกขั้นตอนผู้ชมสามารถดูการสาธิต และสอบถามผ่านล่ามที่คอยให้บริการทั้งภาษาไทยและอังกฤษตลอดทั้งงาน
หนึ่งในงานช่างที่ผู้คนสนใจเข้าเยี่ยมชมคือ"ผ้าพันคอไหม"อันมีที่มาจากผ้าพันคอของทหารในกองทัพนโปเลียน เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1928 ขนาด 90 ตร.ซม. หนัก 65 กรัม ความยากของผ้าพันคอแต่ละผืนคือ ทุกเส้นด้ายนำเข้าจากบราซิล ทออย่างละเอียด โดยผ้า 1 ผืนต้องใช้รังไหมแท้ถึง 250 รัง และเทคนิคการทอแบบ 16 รังไหม ขณะที่การผลิตทั่วไปใช้แค่ 8 รังไหม แอร์เมสมีช่างพิมพ์ระดับเซียนประมาณ 40 คนเท่านั้น รับแบบมาจากดีไซเนอร์ของแอร์เมส กว่าจะทอออกมาเป็นผืนผ้าได้ต้องใช้ระยะเวลากว่า 6 เดือน
วันนั้นช่างฝีมืออรหันต์จากแอร์เมสทำการพิมพ์ลายด้วยการซิลก์สกรีนด้วยมือล้วน ๆ ใช้สีกว่า 40 สี เรียกว่าต้องค่อย ๆ ทำไปทีละสี และต้องรอให้แห้งไปทีละสี ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงต่อสี เรียกว่าประณีตกันระดับอณูของเส้นด้ายเลยทีเดียวหากพบว่ามีสีที่ผิดเพี้ยนเพียงเล็กน้อยก็จะถูกคัดทิ้งทันที
ฉะนั้น การพิมพ์ลายให้เนียนสวยและงดงามอย่างที่เห็น จึงต้องใช้ช่างฝีมือระดับเทพ และมีขั้นตอนการทำกว่า 40 ขั้นตอนกว่าจะได้มาเป็นผ้าพันคอแต่ละผืน สามารถยกเทียบชั้นกับงานศิลปะภาพพิมพ์เลยก็ว่าได้
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมผ้าพันคอของแอร์เมสบางผืนจึงมีราคาสูงกว่า 1 แสนบาท และยังเป็นของมีค่าที่นักสะสมนิยมเก็บและตามหามาไว้ในครอบครอง ไม่แพ้งานศิลปะของศิลปินดัง ๆ เลยทีเดียว
นับตั้งแต่ปี 1937 แอร์เมสผลิตผ้าพันคอมาแล้วกว่า 25,000 ลาย แต่ในปัจจุบันจะผลิตผ้าพันคอมาเพียง 2 ซีซั่น ประมาณ 20 ลายต่อปีเท่านั้น และอาจมีรุ่น Limited Edition ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ โดยจะใช้เวลาคัดเลือกลวดลายที่จะนำมาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคมของทุกปี
นับเป็นชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซอาศัยทั้งเวลาฝีมือการอดทนรอคอยของทั้งดีไซเนอร์ ช่าง และคนรอซื้อจริง ๆ
ฝึก 3 ปีกว่าจะได้เย็บ Hermes
แอร์เมสมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 178 ปี โดยเริ่มต้นเมื่อปี 1837 "เทียร์รี่ แอร์เมส" (Thierry Hermes) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเริ่มทำกิจการผลิตอานม้าสำหรับผู้ขี่ม้า และกระเป๋าใบใหญ่ที่ใช้ในการเดินทางด้วยรถม้า โด่งดังในเรื่องการเย็บแบบ 2 เข็ม ที่แน่นและทนทาน เทคนิคนี้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แอร์เมสใช้ต่อยอดผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ จนสินค้ากลายเป็นที่นิยมในหมู่ราชวงศ์และชนชั้นสูงฝรั่งเศส
หัวใจหลักของแอร์เมส คือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจของช่าง และความสัมพันธ์ของช่างกับลูกค้า ช่างทำกระเป๋าแต่ละคนต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างน้อย 3 ปีจึงได้รับอนุญาตให้ผลิตกระเป๋าได้ กระเป๋าแต่ละใบใช้เวลาเย็บไม่ต่ำกว่า 16-18 ชั่วโมง เมื่อลูกค้าต้องการส่งซ่อมช่างผู้ผลิตใบนั้น ๆ ก็ต้องซ่อมด้วยตนเอง
ด้วยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต Hermes
ใช่ว่าคุณเป็นมหาเศรษฐีและมีเงิน ก็จะหาซื้อกระเป๋าแบรนด์นี้มาถืออวดสายตาคนได้ง่าย ๆ
แอร์เมสมีเงื่อนไขว่า ขายให้เฉพาะลูกค้าประจำเท่านั้น หรือไม่คนคนนั้นก็ต้องมีบุคลิกเหมาะสม
แม้มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากชวนหงุดหงิดขนาดนี้ แต่ยอดสั่งจองถล่มทลายและต้องรอคอยกันนานข้ามปี แถมยังช่วงชิงสินค้าลิมิเต็ดเอดิชั่นอีกด้วย เมื่อนำยุทธวิธีการผลิตที่ยากลำบากกับกลยุทธ์การตลาดที่เน้นเฉพาะลูกค้ากระเป๋าหนัก คัดสรรกลุ่มเป้าหมายชนชั้นสูง ผู้ดีมีฐานะและบุคคลที่มีชื่อเสียง
แอร์เมสเปรียบเสมือนสินค้าที่บ่งบอกสถานะทางสังคมกับกลยุทธ์การตลาดแบบ Waiting List ที่ยิ่งทำให้กลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น เรียกได้ว่า "ยิ่งหายาก ยิ่งอยากได้"
Cr.ประชาชาติธุรกิจ