'วันสตรีสากล'ให้หญิงชายในรัฐธรรมนูญเท่าเทียม 2558 |
เครือข่ายองค์กรผู้หญิงทั่วประเทศกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) กระทรวงต่างประเทศ การค้าและพัฒนา ประเทศแคนนาดา(DFATD,Canada) Internationat Republican Institute(IRI) ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมตัวกันแสดงพลังเนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งได้มีการเดินขบวนรณรงค์ จาก ถ.ราชดำเนิน มายัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมอ่านประกาศเจตนารมณ์เรียกร้องให้บรรจุสัดส่วนหญิงชาย 50 ต่อ 50ในรัฐธรรมนูญ และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนผ่านเวที “ 104 ปี 8 มีนาวันสตรีสากล ผู้หญิงรำลึก เฉลิมฉลอง การปฏิรูปสู่อนาคต 50 ต่อ 50 ”
น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิงและเฉลิมฉลองในวันสตรีสากลที่เวียนมาครบ 104 ปี จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะเกิดการจ้างงานที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังต้องการให้เกิดเวทีพบปะพูดคุยเพื่อสะท้อนปัญหาของผู้หญิงเพื่อนำมาสู่การแก้ไข ที่สำคัญผู้หญิงยังต้องการส่งเสียงย้ำเตือนว่าเราเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากจำนวนผู้หญิงมีมากกว่าชายเกือบ2ล้านคน ดังนั้นผู้หญิงต้องได้รับความเสมอภาคในบทบาททางการเมืองและการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับ ผู้หญิงต้องมีสิทธิและสัดส่วนเท่าเทียมผู้ชาย คือ 50 ต่อ 50
"หวังว่ากิจกรรมในวันนี้ผู้หญิงจะได้แสดงให้ผู้นำประเทศและสังคมได้เห็นว่าไม่ควรมองข้ามความสำคัญของผู้หญิง หากจะมีการปฏิรูป การจัดสัดส่วนอะไร ต้องคำนึงถึงประชากรที่มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศด้วย ขอตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาได้สร้างความเป็นธรรม สร้างกลไกเครื่องมือเพื่อยกฐานะของผู้หญิงให้เป็นหุ้นส่วนบ้างหรือยัง เพราะอย่างกรณีนางทิชา ณ นคร ลาออกจากตำแหน่ง ก็สะท้อนให้สังคมเห็นชัดเจนแล้วว่า ลำพังเสียงผู้หญิงแค่ไม่กี่เสียงคงสู้ไม่ไหว เพราะผู้ชายยังไม่เปิดใจกว้างยอมรับ จึงยากที่ผู้หญิงจะได้รับโอกาสเข้าไปสู่กระบวนการตัดสินใจในระดับสูง"
น.ส.อรุณี ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวต่อว่า แม้นางทิชา จะลาออกจากตำแหน่งแล้ว เครือข่ายผู้หญิงทั่วประเทศ คาดหวังว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะคำนึงถึงสัดส่วนผู้หญิง เพราะยังไม่สายเกินไปที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจะคำนึงและนึกถึงผู้หญิง ที่เคยได้สร้างผลผลิตสร้างสังคมให้มีคุณค่า
"เมื่อจะมีการปฏิรูปประเทศ หากไม่ก่อเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิงเราจะถือว่าเป็นการปฏิรูปที่เสียของ เพราะจากบทเรียนเราเขียนรัฐธรรมนูญออกมาหลายฉบับหากจะทำแบบเดิมๆอีก ก็ไม่มีประโยชน์ บ้างเมืองวุ่นวายแตกแยกอยู่ดี ทั้งนี้ขอให้ประชาชนทุกคนจับตาการปฏิรูปเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ" น.ส.อรุณี กล่าว
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายฯสตรีเชื่อว่าทิศทางการปฏิรูปประเทศที่ชอบธรรมสร้างความปรองดองได้ ต้องอาศัยความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่เน้นการกระจายอำนาจ และการส่งเสริมประชาธิปไตย ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมาย ในสัดส่วนที่เท่าเทียม เพราะเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาประเทศอย่างสมดุลยั่งยืน เกิดประโยชน์แท้จริง ซึ่งเครือข่ายสตรีจากทั่วประเทศต้องการฉายภาพให้สังคมได้รับรู้หลักสิทธิมนุษยชน ตามที่ไทยได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(CEDAW) ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรบรรจุการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในทุกระดับ โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองระดับชาติและส่วนท้องถิ่น
"สิ่งที่เรายังเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ แม้จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆด้านสิทธิสตรี แต่สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงเด็กหญิง ปัญหาการค้ามนุษย์ ยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าวขณะที่การจัดกิจกรรมบริเวณหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายผู้หญิงต่างๆ ได้ขึ้นเวทีประกาศเจตนารมณ์แต่ละกลุ่ม เพื่อร่วมแสดงพลังในการการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญ
น.ส.อรุณี กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสตรีสากล นอกจากจะมารำลึกถึงการให้ได้มาวึ่งความยุติธรรมแล้ว วันนี้ เราต้องส่งเสียงบอกผู้บริหารบ้านเมือง ที่กำลังยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องไม่ลืมว่าประชากรมากกว่าครึ่งคือผู้หญิง ดังนั้นท่านต้องรำลึกเสมอถึงสัดส่วนผู้หญิงในการปฏิรูปประเทศ ถ้าลืมเรา เราไม่ยอม ดังนั้นเราต้องส่งเสียงดังประกาศเจตนารมณ์ให้รู้
ขณะที่ น.ส.ธนพร วิจันทร์ และ น.ส.ชุติมา บุญจ่าย ได้นำกล่าวการประกาศเจตนารมณ์ต่อรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปและนโยบายของรัฐ เนื่องในวาระวันสตรีสากล 8 มี.ค.58 ของกลุ่มบูรณการแรงงานสตรีว่า เมื่อจะมีรัฐธรมนูญใหม่ ก็ต้องมีหลักประกันสิทธิประชาธิไตย สิทธิมนุษยชน และสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่ขณะนี้ยังมีการละเลย ไม่ให้ความสำคัญในปัญหาของแรงงานและความเสมอภาคของผู้หญิง ดังนั้นเครือข่ายผู้หญิงวันนี้ จึงขอประกาศเจตนารมณ์เพื่อแสดงพลังการต่อสู้ของขบวนผู้หญิงที่ไม่เคยท้อถอย หรือหยุดนิ่ง โดยเราพร้อมจะเกาะติด ตรวจสอบ และผลักดันรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปและนโยบายของรัฐเพื่อสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
ทั้งสอง ประกาศต่อว่า ข้อเรียกร้องที่ต้องการขับเคลื่อนสังคม และเสนอต่อคณะกรรมาธิการร่าง รธน. , สปช. และรัฐบาล ที่ผู้หญิงทำงาน ต้องการคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน คือ
1.ต้องบรรจุเรื่องสัดส่วนหญิง – ชาย ไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ โดยผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผนโดยมีสัดส่วน 50 – 50 ทั้งในโครงสร้างการเมืองทุกระดับ กรรมการไตรภาคีด้านแรงงานทุกคณะ กรรมการรัฐวิสาหกิจ กรรมการการพิจารณาออกกฎหมาย และกรรมการองค์กรต่างๆ ของรัฐ
2.ต้องบรรจุในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แรงงานทั้งหญิง – ชายที่มาทำงานต่างถิ่น ต้องได้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนทางการเมืองในพื้นที่ที่ทำงานอยู่
3.ต้องมีมาตรการเด็ดขาดในการห้ามการเลิกจ้างคนตั้งครรภ์ และส่งเสริมให้มีนโยบานเงินสนับสนุนอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็ก และมีสวนเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพกระจายให้ทั่วถึงในชุมชน โรงงาน หน่วยงานของรับ และบริษัทเอกน และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลบริการให้สอดคล้องกัลเวลาที่เป็นจริงของแรงงานหญิงที่ทำงานอย่างจริงจัง 4.รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิความคุ้มครองการเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงานอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็กตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์โดยผู้เป็นบิดา มีสิทธิลางานดูแลบุตร และมารดาหลังคลอดได้
5. ส่งเสริมหลักประกันการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิงอย่างมีคุณภาพ เพราะวันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็็งปากมดลูกในอัตราสูง ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ถ้ามีระบบตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน มีคุณภาพ บริการฟรี หรือราคาถูก รวมทั้งส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงานในหลายรูปแบบให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยจากการอุตสาหกรรม งานบริการ รวมทั้งสารเคมีในภาคเกษตกร
6.ผู้หญิงต้องมีความมั่นคงในการทำงาน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และมีมาตรการคุ้มครอง ฟื้นฟูจากความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศในที่สาธารณะ และคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบที่จะส่งผลการะทบต่อประชาชนและพนักงานทุกคน รวมทั้งคัดค้านการควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยจำเป็นให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฯ ต้องมีและเป็นองค์กรอิสระต่อไปที่จะตรวจสอบการทำงานของเอกชนและรัฐ โดยให้การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฯ ต้องยึดโยงกับประชาชน
จากนั้น กลุ่มบูรณการแรงงานสตรี ร่วมกับสมาพันธ์แรงงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์การทำงานประเด็นผู้หญิง กลุ่มสตรีพิการ เครือข่ายหลากหลายทางเพศ เครือข่ายชนเผ่าจากภาคเหนือภาคตะวันตก เครือข่ายสตรี 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศเจตนารมรณ์ร่วมกันในวันสตรีสากล 8 มี.ค.นี้ ที่ย้ำที่ต้องให้มีสัดส่วนผู้หญิง – ผู้ชาย 50 – 50 ในการตัดสินใจทุกระดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่มีการประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายผู้หญิงแต่ละกลุ่มก็ได้ร้องเพลงและการแสดงพื้นบ้านท้องถิ่น เป็นการแสดงพลังด้วย
Cr.กรุงเทพธุรกิจ