7 มี.ค. 2558

พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ

พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ “รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์” เจ้าของรางวัลงานวิจัยดีเด่น

     องค์การเภสัชกรรม ร่วมแสดงความยินดี กับรองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ ในโอกาสได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2557


พืชพรมมิ บำรุงสมอง มายาวนานมาก ในอินเดีย
     ภญ.วนิชา ใจสำราญ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมแสดงความยินดี กับ รศ.ดร.ภญ.กรกนก อิงคนินันท์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะนักวิจัยร่วม ในโอกาสได้รับรางวัล งานวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2557 จากผลงานวิจัยเรื่อง “พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ” ซึ่งขณะนี้องค์การฯ ได้นำมาต่อยอดพัฒนากระบวนผลิตในระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจร จนได้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัด สมุนไพร “พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ” ในรูปแบบเม็ด ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง บำรุงสมองและความจำ หาซื้อได้จาก องค์กรเภสัชกรรม

     รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นการวิจัยแบบบูรณาการ เกี่ยวข้องกับงานวิจัยสหสาขา ได้ทำการวิจัยและพัฒนาพรมมิเพื่อการใช้ประโยชน์ในการบำรุงความจำ พรมมิเป็นผักและสมุนไพรในประเทศไทย มีการใช้พรมมิในตำรายาไทยสืบเนื่องกันเป็นเวลานาน เช่น ใช้เป็นองค์ประกอบในตำรับยาเขียว และในการบำรุงความจำ รวมถึงในการแพทย์อายุรเวทของอินเดียก็มีการใช้พรมมิเพื่อบำรุงความจำกันอย่างแพร่หลาย


พืชสมุนไพร พรมมิ ป้องกันสมองเสื่อมได้เป็นอย่างดี
     การวิจัยและพัฒนาพรมมิ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาสารสกัดมาตรฐาน จดอนุสิทธิบัตรกระบวนการสกัด ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดต่อการเรียนรู้ และความจำของสัตว์ทดลอง พบว่าพรมมิสามารถป้องกันการสูญเสียความจำในหนูที่ถูกชักนำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม โดยโมเดลที่ใช้คือ ให้สัตว์ทดลองกินพรมมิเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นทำให้ความจำเสื่อม แล้วมาเทียบกับสัตว์ทดลองที่ไม่ได้กินพรมมิ ปรากฏว่าสัตว์ทดลองที่กินพรมมิมีความจำที่ดีกว่าสัตว์ทดลองที่ไม่ได้กินพรมมิ จึงเห็นได้ว่าพรมมิช่วยปกป้องการเสื่อมของสมองได้ และผลการทดลองทางพิษวิทยา (พิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง) พิสูจน์ได้ว่าพรมมิไม่มีผลเสียต่อร่างกาย เมื่อทดลองโดยให้สัตว์ทดลองกินสารสกัดพรมมิในขนาดที่สูง เป็นระยะเวลา 9 เดือน พบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตายหรือไม่มีอาการผิดปกติในอวัยวะภายในหรือในเนื้อเยื่อใดๆ


     นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาทางคลินิกในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดี อายุ 55 ปีขึ้นไป จำนวน 60 คน ที่คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น โดยแบ่งให้อาสาสมัคร 30 คนทานยาจริง และอาสาสมัครอีก 30 คนทานยาหลอก โดยให้ทาน 300 มก. (1 เม็ด) และ 600 มก. (2 เม็ด) ต่อวัน ปรากฏว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ทานยาจริงมีความจำ มีการทรงตัวที่ดี มีความจำและสมาธิ รวมทั้งการตอบสนองต่อสิ่งเร้าดีกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ทานยาหลอก โดยเห็นผลหลังจากทานยาติดต่อกัน 2 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้ยังไม่พบผลข้างเคียงใดๆ ที่ต่างจากยาหลอก


     รศ.ดร.กรกนก กล่าวต่อว่า ทางคณะผู้วิจัยฯ ยังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยที่มีความจำบกพร่อง โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว โดยทำการศึกษาวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และในอนาคตอาจจะมีการวิจัยในเด็กที่สมาธิสั้นและผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ด้วย

Cr.หนังสือพิมพ์บ้านเมือง