รัฐชู 2 ข้อพัฒนาพลังงานทดแทน |
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายพลังงานทดแทนไทยปี 2558” ในงานสัมมนาและนิทรรศการ Green Network Forum 2015 ว่าสำหรับแนวทางนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ทางรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องนั้น มี 2 แนวทาง คือ
1.การส่งเสริมให้เกิดพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยมีพลังงานทดแทนไม่ต่ำกว่า 50% ในพลังงานทางเลือกที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2.ราคาที่จะซื้อจะต้องเป็นราคาที่มั่นใจว่า ตั้งแล้ว ผู้ลงทุนคุ้มทุน ไม่แพงมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อสังคมทำให้สังคมเดือดร้อน
ทั้งนี้ 2 แนวทางดังกล่าว ทางรัฐบาลจะนำมาใช้พัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางการแปรรูปพลังงาน เช่น การจัดการขยะ การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น โดยหากผู้ลงทุนสนใจในเรื่องธุรกิจพลังงานทดแทนและเชื่อในแนวคิดนี้ สามารถทำไปวางแผนตัดสินใจในการลงทุนได้
สำหรับแผนพีดีพี 20 ปีที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันและกำหนดแผนว่าจะใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วน 22-25% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ จากปีนี้มีสัดส่วนประมาณ 11% หรือ 7,400 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ระยะยาวจะเปิดรับซื้ออีกเท่าตัวจากที่ปริมาณปัจจุบันรวมทั้งปริมาณค้างท่อโครงการโซลาร์รูฟท็อป (200 เมกะวัตต์), โครงการโซลาร์สหกรณ์-ภาครัฐ (800 เมกะวัตต์) มีทั้งหมดประมาณ 2,800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะส่งเสริมพลังงานทดแทนหลัก ได้แก่ แสงอาทิตย์, ขยะและชีวภาพ-ชีวมวล โดยการส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นเรื่องที่รัฐส่งเสริม แต่ก็ต้องดูความมั่นคงและไม่กระทบค่าไฟฟ้าภาคประชาชนด้วย
“ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ค้างท่อ 1,013 เมกะวัตต์ กำหนดชัดเจนว่าจะต้องแจ้งย้ายพื้นที่ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ หากแจ้งไม่ครบค่อยมาดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ รัฐบาลส่งเสริมเต็มที่ทั้งพร้อมเพิ่มค่าไฟฟ้า FIT ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่สีเขียว ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะ, ชีวมวล, ชีวภาพก็จะเปิดบิดดิ้งหรือประมูลในอัตราไม่เกิน FIT ที่กำหนด” นายณรงค์ชัย กล่าว
นางกุลวรีย์ บูรณสัจจะวราพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คาดว่าการบิดดิ้งไฟฟ้าชีวภาพจะเริ่มได้ในกลางปี 2558 และขณะนี้ พพ.กำลังจะเสนอแผนพลังงานทดแทนในแผนพีดีพี
ทั้งนี้ ในไทยก็ได้มีพัฒนานำพลังงานทดแทน เช่น นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งานแล้วบางส่วน เช่น ตะเกียงโซล่าเซลล์ โคมไฟพลังแสงอาทิตย์ ฯลฯ
Cr. บ้านเมือง