เมื่อประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องถูกพัฒนาขึ้นมาควบคู่กันจึงเป็นเรื่องของเครื่องมือ เครื่องไม้อัจฉริยะสำหรับตอบสนองการเคลื่อนไหว ในยามที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทำงานได้ไม่สะดวกเหมือนเคย และจะดีแค่ไหนหากผู้พิการและผู้สูงอายุบนวีลแชร์สามารถไปไหนมาไหนเองได้ อย่างปลอดภัย และจะดีแค่ไหนหากพวกเขาสามารถสั่งงานอุปกรณ์เหล่านั้นได้แบบไม่ยากเย็น ตามไปดูวีลแชร์อัจฉริยะ(Smart Wheelchair)จากนักวิจัยมหิดล ที่จะทำให้ชีวิตของผู้พิการไม่ยุ่งยากอีกต่อไป
นายดิลก ปืนฮวน นักศึกษาปริญญาเอกและนักวิจัยห้องปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนารถวีลแชร์อัจฉริยะ(Smart Wheelchair) กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ที่เขาทำขึ้นมีจุดประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตั้งแต่ระดับที่มีอาการน้อยไป จนถึงระดับที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้แต่สมองยังสั่งการได้อยู่ เพราะมีระบบนำทางอัตโนมัติที่ถูกโปรแกรมให้รับคำสั่งจากผู้ใช้งานได้โดยตรง
รถวีลแชร์อัจฉริยะ(Smart Wheelchair)มีระบบนำทางอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นจะสามารถพาผู้ป่วยไปในสถานที่ ที่ต้องการได้ในปลายทางที่บันทึกไว้แล้วตั้งแต่แรก โดยใช้มือ ใช้คาง ในกรณีที่กล้ามเนื้อคอสามารถทำงานได้ปกติและระบบใช้การกลอกลูกตาหรือสัญญาณ จากสมอง ไปยังเคอเซอร์ที่จะกดคำสั่งบนจอคอมพิวเตอร์คล้ายกับการคลิกเมาส์ เพื่อควบคุมทิศทางของวีลแชร์ได้อย่างอิสระ
นักวิจัย อธิบายว่า ระบบการทำงานของวีลแชร์มี 2 ระบบคือ ระบบอัตโนมัติและระบบธรรมดา โดยระบบนำทางอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นจะสามารถพาผู้ป่วยไปในสถานที่ที่ต้องการ ได้อัตโนมัติโดยการเลือกตำแหน่งปลายทางที่บันทึกไว้แล้วตั้งแต่แรก โดยใช้มือ ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ยังใช้มือได้, ใช้คาง ในกรณีที่กล้ามเนื้อคอสามารถทำงานได้ปกติ, ใช้การกลอกลูกตาหรือสัญญาณจากสมอง ในกรณีที่ผู้ป่วยพิการทั้งร่างกายไปยังเคอเซอร์ที่จะกดคำสั่งบนจอ คอมพิวเตอร์คล้ายกับการคลิกเมาส์ ที่ในระหว่างการนำทางระบบยังสามารถตรวจจับ และหลบหลีกสิ่งกีดขวางอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ได้อีกด้วย
“ความโดดเด่นอีกประการ คือ ผู้ใช้รถวีลแชร์อัจฉริยะ(Smart Wheelchair)สามารถเปลี่ยนโหมด การทำงานเป็นโหมดการทำงานแบบธรรมดาได้ด้วย ซึ่งในการควบคุมโหมดธรรมดานี้ผู้ใช้จะสั่งงานได้จากหลายๆ อวัยวะตามถนัดทั้งมือ, คาง, ตา หรือสัญญาณสมอง เพื่อควบคุมทิศทางของวีลแชร์ได้อย่างอิสระ และยังสามารถบันทึกตำแหน่งที่ต้องการเพิ่มเติมได้อีก ” นายดิลก เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ในส่วนขององค์ประกอบ นายดิลก ระบุว่าจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนของคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Mini PC) สำหรับเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ บนวีลแชร์เพื่อส่งไปยังเซิฟเวอร์ผ่านระบบไวไฟ, 2.จอแอลอีดีเล็กขนาด 7 นิ้ว สำหรับติดต่อกับผู้ใช้งาน,3.เครื่องสแกนเลเซอร์(Laser Scanner)เป็นเสมือนเครื่องสแกนแบบพกพา สำหรับระบุตำแหน่งของวีลแชร์ เพื่อใช้ในการนำทางและตรวจจับสิ่งกีดขวาง และส่วนสุดท้ายคือ 4.สแกนเนอร์เลเซอร์แบบหมุนได้ ที่ใช้สำหรับตรวจสอบจับสิ่งกีดขวางที่อยู่บนพื้น
ก่อนที่จะใช้ระบบนำทางอัตโนมัตินั้นระบบจำเป็นจะต้องมีแผนที่ของห้องที่ผู้ ใช้จะไปก่อน โดยระบบจะทำการสร้างแผนที่จากโอโดมิเตอร์ (Odometer) และเครื่องสแกนเลเซอร์ (Laser Scanner) ที่ทำหน้าที่เหมือนเครื่องสแกนแบบพกพาติด ตั้งอยู่บนรถเข็นโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “แสลม” (Simulatoneus locolization and mapping: SLAM) ที่จะบันทึกจุดหรือสถานที่ที่ผู้ใช้งานใช้เป็นประจำ เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ซึ่งระบบแสลมดังกล่าวนักวิจัยเผยว่า ได้พัฒนาขึ้นมาจากระบบอาร์โอเอส (Robot Operating System: ROS) ที่ผู้ใช้งานเพียงเลือกสถุานีปลายทาง ระบบก็จะทำการประมวลผลเส้นทางที่เป็นไปได้ และเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด ก่อนจะนำวีลแชร์อัจฉริยะ(Smart Wheelchair)ไปถึงจุดหมาย
“ณ ตอนนี้เราถือว่าประสบความสำเร็จและพร้อมผลิตรถวีลแชร์อัจฉริยะ(Smart Wheelchair)หากมีผู้สนใจ แต่ปัญหาอีกสิ่งที่กังวลคือ เรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท เพราะระบบอัตโนมัติค่อนข้างซับซ้อนและต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาแพง แต่ในอนาคตก็อาจจะถูกลงได้อีก และอยู่กับผู้ใช้ด้วยว่าต้องการระบบแบบไหนถ้าไม่ต้องการระบบอัตโนมัติก็จะลด ราคาลงมาได้อยู่ที่หลักหมื่นเลยทีเดียว” นักวิจัย กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้นักวิจัยยังเผยด้วยว่า ผลงานวีลแชร์อัจฉริยะ(Smart Wheelchair)ยังเคยเข้าร่วมแข่งขันในเวที i-CREATe (international Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology) เวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับนานาชาติที่สิงคโปร์เมื่อช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งในการแข่งขันดังกล่าวได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้วย
Cr.ผู้จัดการ