21 ส.ค. 2558

กองทุนการออมแห่งชาติ รับบำนาญตลอดชีพ

กองทุนการออมแห่งชาติ รับบำนาญตลอดชีพ
กองทุนการออมแห่งชาติ รับบำนาญตลอดชีพ




จ่ายแค่ขั้นต่ำไม่พอรับบำนาญตลอดชีพ กอช.แนะวางเป้าหมายก่อนออม จ่ายแค่ขั้นต่ำไม่พอรับบำนาญตลอดชีพ
 
                       หลังจาก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ปี 2554 แต่ก็มีอันต้องหยุดชะงักลงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้การเดินหน้าจัดตั้ง กอช.ถูกดองเอาไว้เป็นเวลานานถึง 4 ปี จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลปัจจุบันได้นำออกมาปัดฝุ่นและเดินหน้าผลักดันกองทุนดัง กล่าวอีกครั้ง โดยล่าสุดมีกำหนดจะเปิดรับสมาชิกในวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ซึ่งจะเน้นดูแลและให้สวัดิการแก่แรงงานนอกระบบของประเทศที่มีจำนวนกว่า 25 ล้านคน
 
                       นายสมพร  จิตเป็นทม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช.จัดตั้งขึ้นมาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมีการออมเงินไว้ใช้ยามแก่ชราและไม่มีลูกหลานคอย เลี้ยงดู โดยหลักการของ กอช.ต้องการให้ประชาชนสะสมเงินของตัวเองส่วนหนึ่งกับเงินสมทบของรัฐบาลอีก ส่วนหนึ่ง เป็นการช่วยกันออม จะได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองในอนาคต  ทั้งนี้เป้าหมายแรงงานอกระบบที่อยากให้สมัครเป็นสมาชิก กอช. จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีการคุ้มครองโดยรัฐ เช่น อาชีพค้าขาย คนขับแท็กซี่ คนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  เกษตรกร  ทนายความ นักบัญชี และรวมไปถึงนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงอายุไม่เกิน 60 ปี สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ได้  
 
                       ส่วนประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี เช่น ข้าราชการเกษียณ หรือพนักงานเอกชนที่เกษียณจากการทำงานแล้ว แต่อยากเข้าเป็นสมาชิกในลักษณะดังกล่าว คงต้องรอให้กฎหมายอีกฉบับมีผลบังคับใช้ก่อน คาดว่าจะเป็นภายในเดือนกันยายน 2558 ซึ่งสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ในช่วงโปรโมชั่นในช่วง  1 ปีแรกนี้ และสามารถออมเงินต่อเนื่องได้อีก 10 ปีหลังจากนั้นจึงจะได้รับเงินคืน
 
                       นายสมพรกล่าวต่อว่า ก่อนจะสมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. อยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายก่อนว่าจะออมเงินเพื่ออะไร จะออมเพื่อเก็บเงินก้อนไว้ใช้ยามเกษียณหรืออยากได้บำนาญในวงเงินที่สูงพอ เลี้ยงชีพไปจนถึงได้รับโบนัสจากรัฐบาล เพราะหากจะออมเงินเพียงขั้นต่ำเพียงเดือนละ 50 บาท หรือปีละ 600 บาท อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการคำนวณจ่ายบำนาญคืนเมื่ออายุ 60 ปี จึงอยากให้ออมในจำนวนที่มากพอ เพราะยิ่งออมมากยิ่งได้เงินบำนาญมากและได้โบนัสเยอะตามไปด้วย 
 
                       “คนที่มีเงินมากควรออมมาก ส่วนคนมีน้อยหรือไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องออมเงินทุกเดือน ทาง กอช.ค่อนข้างจะยืดหยุ่นตรงนี้ เพราะเข้าใจดีว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ปีไหนจะไม่ออมก็ได้ หรือกรณีที่สมัครเข้ามาแล้วภายหลังเข้าไปอยู่ในระบบกองทุนประกันสังคมจะไม่ ลาออกและส่งเงินให้ กอช.บริหารต่อก็ได้ แต่ก็จะเสียสิทธิการได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล หรือภายหลังว่างงานกลับเข้ามาอยู่ใน กอช.อีกก็ได้ ตราบใดที่ยังไม่แจ้งขอลาออก ส่วนการจะเดินเข้าไปฝากเงินที่แบงก์ทุกเดือนอาจจะไม่สะดวก แนวทางที่ดีอยากแนะนำให้ฝากปีละครั้ง เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของ กอช.ที่ต้องจ่ายให้ 3 แบงก์รัฐ คือ ออมสิน กรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส.ด้วย” นายสมพรกล่าว
 
 
                       พร้อมแนะนำว่า ยิ่งเริ่มออมตั้งแต่อายุน้อย 15 ปี ก็ยิ่งมีโอกาสได้เงินบำนาญมาก เช่น หากออมเงินสูงสุดปีละ 13,200 บาทไปจนถึงอายุ 60 ปี บวกกับเงินสมทบของรัฐตามช่วงอายุ คือ 15-30 ปี รัฐจ่ายให้ 50% ของเงินสะสมแต่ไม่เกินปีละ 600 บาท  อายุ 30-50 ปีรัฐจ่าย 80% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน 960 บาท และอายุ 50 ปีขึ้นไปรัฐจ่าย 100% แต่ไม่เกิน 1,200 บาท บวกกับดอกผลจากการลงทุนก็น่าจะได้รับเงินบำนาญ 8,000-10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบากในอนาคต แต่หากเงินในบัญชีมีน้อยและคำนวณบำนาญแล้วได้น้อยกว่าบำนาญขั้นต่ำ 600 บาทกองทุนก็จะให้เงินดำรงชีพเท่ากับ 600 บาทไปจนกว่าเงินในบัญชีจะหมด ซึ่งจากที่คำนวณคร่าวๆ ต้องมีเงินในบัญชีไม่ต่ำกว่า 150,000 บาทจึงจะได้รับบำนาญ 
 
                       ส่วนที่กำหนด 600 บาทเป็นตัวตั้ง เพราะมีการประเมินแล้วว่าเป็นเงินดำรงชีพขั้นต่ำที่ควรจำเป็นและเมื่อรวมกับ เบี้ยยังชีพจากรัฐบาลอีก 600 บาท จะทำให้ผู้มีอายุ 60 ปีมีเงินใช้จ่ายอย่างน้อยเดือนละ 1,200 บาท ซึ่งตามหลักแล้วการรับเงินบำนาญไปเรื่อยๆ นั้น เมื่อถึงอายุ 80 ปี เงินในบัญชีจากการสะสม สมทบและดอกผลจะหมดจากบัญชี แต่กรณีที่อายุยืนกว่านั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่อายุขัยเฉลี่ยคนไทยจะมากขึ้นตามการแพทย์  กอช.ก็ยังจ่ายเงินในอัตราเท่าเดิมต่อไป จึงอยากชี้ให้เห็นว่า หากยิ่งออมมากก็จะได้รับบำนาญมากและได้โบนัสหลังอายุ 80 ปีมากตามไปด้วย
 
                       อย่างไรก็ตาม เงินบำนาญที่ 600 บาทต่อเดือน ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ค่าครองชีพในช่วงนั้นๆ และขึ้นอยู่กับนโยบายด้วย และอยู่ที่การบริหารให้ได้ดอกผลว่าจะได้มากน้อยเพียงใด แต่หาก กอช.บริหารผิดพลาดก็ต้องหาเงินมาจ่ายตามที่การันตีผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ เทียบเท่าเงินฝากประจำ 12 เดือนของ 4 แบงก์ ซึ่งน่าจะสูงกว่าเงินเฟ้อ  จึงการันตีได้ว่าเงินฝากจะไม่ด้อยค่าเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในช่วงนั้นๆ อย่างแน่นอน
 
                       สำหรับการรับสมัครวันแรก 20 สิงหาคม 2558 ผู้สนใจเพียงถือบัตรประชาชนใบเดียวก็สมัครได้ที่สาขาของอองสิน ธ.ก.ส. และกรุงไทยกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ โดยขณะนี้ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลของ กอช.กับแบงก์และกรมการปกครอง สำนักงานประกันสังคมพร้อมแล้ว แต่หากมีการเข้ามาสมัครเป็นจำนวนมากก็อาจทำให้ระบบล่มได้ คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยในสิ้นปีนี้ตั้งเป้ามีสมาชิกสมัครเข้ากองทุนกว่า 5-6 แสนคน สิ้นปี 2559 มีจำนวน 1.5 ล้านคน และในปี 2560 จะมีสมาชิกจำนวนถึง 3 ล้านคน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานนอกระบบที่ยังพอมีศักยภาพการออมเงิน 10 ล้านคน และน่าจะมีเม็ดเงินในกองทุนกว่าแสนล้านบาทในอีก 5-6 ปีข้างหน้า 
 
                       นายสมพรกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ กอช.จะทำงานเชิงรุกเข้าหาชุมชน วัด โรงเรียน เพื่อปลูกฝังการออมตั้งแต่ยังอายุน้อยและให้วัดช่วยกล่อมเกลาชาวบ้านให้เห็น ประโยชน์ของการออมอีกแรงหนึ่ง เพราะการทำบุญเป็นการเก็บไว้กินชาติหน้า แต่การออมเก็บไว้กินชาตินี้ หากอยากสบายมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ “ก็ออมชิ” (มาจากตัวย่อของ กอช.) นอกจากนั้น ในอนาคตกอช.อาจจะเข้าไปมีส่วนช่วยสมาชิกในการเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย หรือสนับสนุนแหล่งเงินทุน โดยการนำเงินส่วนหนึ่งไปปล่อยกู้ให้นาโนไฟแนนซ์เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ต่อใน อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงก็เป็นได้