มหัศจรรย์ “ป่าเด็งโมเดล”นวัตนกรรมพลังงานทดแทน พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน |
ยูเอ็นพีดี ยกย่องนวัตกรรมพลังงานทดแทน 'ป่าเด็งโมเดล' เจ๋งสุด
ไม่ง้อรัฐ ชาวบ้านป่าเด็งร่วมใจศึกษาและปรับใช้นวัตกรรมพลังงานทดแทน สร้างไฟฟ้า แก๊ส ใช้เองในหมู่บ้าน ด้าน ยูเอ็นพีดี ยกย่องเป็นโมเดลการจัดการที่ลงทุนน้อย แต่ประสบความสำเร็จและให้ผลคุ้มค่าวันที่ 28 ม.ค. นายโกศล แสงทอง ประธานเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมปฏิบัติการพลังงานชุมชนครบวงจร ที่จัดโดยกระทรวงพลังงาน ว่า จากความพยายามของชาวบ้าน ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่นำองค์ความรู้เรื่องพลังงานทดแทน มาปรับใช้ในพื้นที่และพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด โดยเสนอขอทุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดีพี เพื่อนำมาพัฒนาหมู่บ้านนั้น ได้รับการยอมรับจากยูเอ็นดีพีว่า โครงการป่าเด็งเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพียง 10,000 บาท แต่กลับกลายเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
นายโกศล อธิบายต่อว่า ป่าเด็งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าลึก ทำให้การหุงหาอาหารต้องมีการตัดไม้มาเผาถ่าน ใช้ชีวิตกันค่อนข้างลำบาก เลยคิดว่าจะแก้เรื่องนี้อย่างไร จึงเริ่มศึกษาการทำก๊าซชีวภาพ หรือ ไบโอแก๊สจากมูลสัตว์ โดยเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก และเดินทางไปดูงานในพื้นที่ต่างๆ ก่อนนำความรู้ที่ได้กลับมาทดลองทำทดลองใช้ ปรับเทคนิคสวมเข้ากับบ่อปูน ก็ประสบความสำเร็จผลิตก๊าซไว้ใช้ได้นานขึ้น
“จำได้ว่าช่วงนั้นพวกเราก็ไม่มีเงินทองมากนัก บางครั้งต้องเอากล้วยเอามะนาวไปแลกความรู้ ขณะที่การติดตั้งซึ่งมีราคาราว 3,900 บาท เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับชาวบ้าน จึงได้ใช้วิธีลงขันจับฉลาก คนละ 300 บาทต่อเดือน 1 เดือน ซื้ออุปกรณ์ 1 ครั้ง วนไปจนกว่าจะครบจำนวนคน” ประธานเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ระบุ
นายโกศลกล่าวต่อด้วยว่า นอกจากผลิตไบโอแก๊สแล้ว กลุ่มชาวบ้านยังนำแผงโซล่าเซลล์จากนโยบาย Solar home ที่รัฐบาลแจกให้บ้านเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในปี 2545-2546 แต่พังไปตามเวลาและการใช้งาน กลับมาซ่อมแซมใช้ใหม่ได้อีกครั้ง และสามาารถประยุกต์ทำ โคมไฟโซล่าเซลล์
“เหตุที่ชาวบ้านซ่อมเองไม่เป็นเพราะรับมาฟรี ไม่มีการสอนให้ซ่อม ทำให้แผงโซลาร์เซลล์ที่ควรมีอายุอย่างน้อย 20 ปี ใช้งานไม่ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะแผงโซลาร์เซลล์แต่ละเซ็ต มีราคาสูงถึง 3-4 หมื่นบาท ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายที่ที่เจอปัญหานี้ ทำให้เครือข่ายฯ อยากขยายความรู้นี้ไปช่วยคนที่อื่นๆ ด้วย เพราะการไม่มีไฟฟ้าใช้ทำให้ชีวิตลำบากมาก" นายโกศล กล่าวพร้อมบอกด้วยว่า การซ่อมแผงโซลาร์เซลล์ทำไม่ยาก เพียงแค่นำตัวไดโอด ซึ่งเป็นตัวควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้าให้เป็นไปในทางเดียวมาใส่ ก็สามารถใช้แผงโซลาร์เซลล์ได้อีกครั้ง
ด้านพิรัฐ อินพานิช นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นคนควบคุมดูแล และออกแบบการอบรมทั้งหมด เป้าหมาย คือ ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้จริง ปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้านเรือน หรือการสอนให้รู้จักอุปกรณ์ต่างๆ ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประยุกต์ใช้เป็น โคมไฟโซล่าเซลล์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังสอนผลิตแก๊สชีวภาพด้วยมูลสัตว์ เศษอาหาร และหญ้าเนเปียร์ เพื่อหุงต้มและผลิตกระแสไฟฟ้า และติดตั้งปั๊มพลังงานแสงอาทิตย์เข้าถังเก็บขนาด 500 ลิตร เพื่อการเกษตร ซึ่งปั๊มดังกล่าวสามารถช่วยให้ชาวบ้านลดรายจ่ายเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นต้องใช้น้ำมันสูบน้ำรดต้นไม้ เดือนละไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาท
พิรัฐ กล่าวต่อด้วยว่า ก่อนหน้านี้ภาครัฐทุ่มเทงบประมาณนับ 1,000 ล้านบาท เพื่อแจกเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับประชาชน แต่ก็ไม่มีโครงการไหนที่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เพราะชาวบ้านไม่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริง
"ความสำเร็จที่เกิดขึ้นชาวบ้านไม่ได้พึ่งงบประมาณของรัฐเลย แต่ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่เทคโนโลยีต่างๆ ด้วยตนเอง นี่คือ ต้นแบบที่เป็นรูปธรรมที่สุด ที่ชาวบ้านนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าและยั่งยืนด้วย" นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว.
Cr.ไทยรัฐออนไลน์