4 ก.พ. 2558

โคมไฟแสงอาทิตย์ จาก หญิงไทย BBC

1 ใน 100 หญิงไทยแห่งปี 2014 จากบีบีซี (BBC)
1 ใน 100 ผู้หญิงแห่งปี 2014 จากบีบีซี (BBC)

‘ไฟฝัน’ไฟฝันบนดอยสูง....1 ใน 100 ผู้หญิงแห่งปี 2014 จากบีบีซี (BBC)
            "บทเรียนจากการเป็นเอ็นจีโอ ทำให้รู้ว่าช่วยเหลือแบบนี้มันไม่ยั่งยืน ยอมรับนะว่าล้มเหลว ก่อนเปลี่ยนเป็นลูกผสมแบบวันนี้”
            คำสรุปสั้นๆ ถึงชีวิตที่ผ่านมา ของสาวไทยผู้ได้รับคัดเลือกเป็น "1 ใน 100 ผู้หญิงแห่งปี" ของสำนักข่าวระดับโลก "บีบีซี (BBC)" สาขาพลังงานทดแทนพัฒนาสังคมยั่งยืน
            หลังจากเว็บไซต์บีบีซีของอังกฤษประกาศรายชื่อ 100  Women 2014 หรือสุดยอดผู้หญิงนักพัฒนาระดับโลกจำนวน 100 คน เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้หญิงไทย 1 ราย ได้รับการคัดเลือกด้วย  เดินทางลัดเลาะไปตามถนนขึ้นภูเขา เพื่อค้นหาหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อ "หนองบัว" ติดกับชายแดนพม่า ที่ ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
            หลังจากนั่งรถยนต์กว่า 10 ชั่วโมง ในที่สุดถึงจุดหมายปลายทาง “ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิพลังงานไร้พรมแดน” ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 10 ไร่ พร้อมตัวจริงเสียงจริงของ “สาลินี ถาวรนันท์” ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เชื่อมั่นว่า เป้าหมายสำคัญของการใช้พลังงานทางเลือก คือ การเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้วิถีชีวิตแบบยั่งยืน เน้นการพึ่งพาตนเอง
            “สาลินี” เปิดเผยเส้นทางชีวิตให้ฟังว่า เดิมเป็นชาวภูเก็ต หลังเรียนจบมัธยมปลายได้สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยเลือกเรียนวิศวเครื่องกล สาขาย่อยพลังงาน เพราะเห็นว่าทุกสิ่งทุกในชีวิตคนเราเกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งหมด
            "พอเรียนจบ ก็นั่งคิดว่า พลังงานอะไรนะ ที่จะมีประโยชน์ในอนาคตข้างหน้าหากโลกนี้เกิดวิกฤติเราจะอยู่อย่างไร ทางเลือกไหนมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยสุด คำตอบคือ พลังงานแสงอาทิตย์ เลยตัดสินใจบินไปต่อปริญญาโทที่อเมริกา สาขาพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ หลังเรียนจบมีรุ่นพี่มาชักชวนให้มาทำงานเป็นเอ็นจีโอ ตอนนั้นประมาณปี 2548”
            การทำงานในนามมูลนิธิพลังงานไร้พรมแดนนั้น จะเน้นพัฒนาพลังงานทดแทนทั้งหมด ทั้งน้ำ แสงอาทิตย์ โคมไฟแสงอาทิตย์ สำหรับหมู่บ้านชาวไทย หรือชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ชายแดน มีองค์กรหน่วยงานต่างๆ จากหลายประเทศมาศึกษาดูงาน และสนับสนุนบริจาคเงิน งานหลักคือ ช่วยดูแลซ่อมแซมแผงและอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ที่รัฐบาลติดตั้งให้ หรือถ้าบ้านไหนโรงเรียนไหนจำเป็นต้องใช้ แต่ไม่มีสามารถขอติดตั้งแผงใหม่ได้ แต่ปัญหาที่พบคือ ใช้ไปไม่กี่ปีก็เสีย ชาวบ้านซ่อมไม่เป็น
            “แผงโซลาร์ฯ เสียบ่อย เพราะไม่ดูแลรักษา บางครั้งแบตเตอรี่หมดสายไฟขาดเขาก็ปล่อยทิ้งกัน เราเข้าไปซ่อมให้ หรือติดใหม่แจกฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ก็พบปัญหาอีกคือ ชาวบ้านไม่ดูแล พอเสียก็ปล่อยทิ้งไว้ ปัญหาซ้ำซาก และการทำงานเป็นเอ็นจีโอทุกอย่างขึ้นกับเงินบริจาค พอเงินหมดงานหยุดชะงัก ไม่ต่อเนื่อง ยิ่งทำให้เรารู้สึกท้อแท้  เหมือนเราไปให้ความหวังเขา แล้วทำไม่ได้จริง วันแรกที่ติดตั้งพวกเด็กๆ ดีใจมีไฟอ่านหนังสือ ผ่านไปไม่กี่เดือนอุปกรณ์เสีย ต้องกลับไปจุดเทียนไขเหมือนเดิม เห็นแล้วรู้สึกตัวเองล้มเหลวมากๆ”
            หลังเรียนรู้ความผิดพลาด ก็เริ่มต้นใหม่พร้อมสร้างเงื่อนไขใหม่ ไม่แจกฟรี แต่ให้จ่ายเงินเป็นการประกันว่า จะมีช่างไปดูแลซ่อมแซมให้ 5 ปี โครงการนี้ได้ผลดีมาก เพราะชาวบ้านใช้เงินของตัวเอง พวกเขาดูแลรักษาอุปกรณ์อย่างดี ทำให้สาลินีตัดสินใจเปิดบริษัททำเป็นลูกผสมระหว่าง “เอ็นจีโอกับธุรกิจ” เมื่อปี 2555 ใช้ชื่อว่า “บริษัทซันสว่าง” หมายถึงความสว่างจากดวงอาทิตย์ ขณะนี้มีพนักงานประมาณ 10 คน รวมถึงอาสาสมัครจากหลายประเทศหมุนเวียนศึกษาดูงานช่วยงานอย่างต่อเนื่อง
            การเปลี่ยนแปลงจากมูลนิธิมาเป็นบริษัท ช่วงแรกถูกต่อต้านเยอะ แต่หลังจากอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ค่าใช้จ่าย 7,500 บาทต่อปี ราคาโคมไฟแสงอาทิตย์ เป็นค่าอุปกรณ์ค่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สายไฟแบตเตอรี่ มีช่างมาดูแลตลอด เงินที่จ่ายเท่ากับซื้อเทียนไขเดือนละ 200 - 300 บาท แต่วิธีนี้ได้ความสว่างทั่วบ้าน มีหลอดไฟได้ 3 ดวงตลอดคืน รวมถึงปั๊มน้ำ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า และโทรทัศน์ สำหรับคนที่เงินไม่พอ สามารถเริ่มต้นด้วยการซื้อโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดจิ๋ว ไว้อ่านหนังสือและมีช่องยูเอสบีไว้ชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ด้วย
            นอกจากเรื่องไฟฟ้าแล้ว ยังมีโครงการพัฒนาการใช้ชีวิตแบบยั่งยืนอื่นๆ ด้วย เช่น การสร้างบ้านดิน ปุ๋ยหมัก ฯลฯ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน เพื่อให้พวกเขาได้มาเรียนรู้แล้วกลับไปดัดแปลงใช้ชีวิตในหมู่บ้านตัวเอง
            จากการสร้างสรรค์วิธีทำงานแบบลูกผสม ระหว่างเอ็นจีโอกับนักธุรกิจ นอกจากบีบีซีจะยกย่องให้เป็นผู้หญิงแห่งปีแล้ว เธอยังผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 “รางวัลผู้หญิงสร้างสรรค์ของคาร์เทียร์” (Cartier Women’s Initiative Awards) ของทวีปเอเชียด้วย
            ก่อนจากกันสาลินีพูดถึงหลักคิดของชีวิตทิ้งท้ายไว้ว่า...

            “คนเราถ้าคิดจะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเก่งเสมอไป ขอให้อดทนกันสิ่งที่กำลังทำ ยอมรับผลที่เกิดขึ้นมา ถ้าล้มเหลวต้องยอมรับ และเรียนรู้ความผิดพลาด ก่อนเริ่มต้นใหม่”

Cr.คมชัดลึก