การประดิษฐ์หุ่นยนต์สร้างบ้าน ในงานวันนักประดิษฐ 2558 |
สำรวจงาน “วันนักประดิษฐ์ 2558” โดย วช. ซึ่งปีนี้นอกจากผลงานนักประดิษฐ์ไทย ยังมีผลงานจากนักประดิษฐ์ต่างชาติจาก 14 ประเทศมาร่วมจัดแสดงด้วย มีผลงานอะไรน่าสนใจ
งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2558 จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 9 (ชั้น 2) เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.58 เพื่อแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมฝีมือคนไทยและต่างชาติกว่า 14 ประเทศ ภายใต้แนวคิด “ความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ" (Creativity & Inspiration) โดยเน้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และจัดต่อเนื่องมา 18 ปีแล้ว
ทั้งนี้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น“ วันนักประดิษฐ์” เพื่อให้คนไทยได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก” ที่ได้ทรงคิดค้น “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.36 ที่นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้พระมหา กษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศ
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ในงานวันนักประดิษฐ์ 2558 |
ภายในงานวันนักประดิษฐ์แบ่งนิทรรศการออกเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, นิทรรศการรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ, นิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ, นิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน และนิทรรศการการพัฒนาหุ่นยนต์สร้างบ้าน
ในส่วนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เน้นการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ มีการนำเสนอพระอัจฉริยภาพ พระราชดำริ ตลอดจนผลงานประดิษฐ์คิดค้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา
ถัดมาในบริเวณเดียวกับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเป็นส่วนของนิทรรศการรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จัดแสดงโปสเตอร์ แบบจำลอง และตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัลฯ ของนักวิจัยที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ, รางวัลผลงานวิจัย, รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2557 และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2558 ซึ่งสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ค่อนข้างสะดุดตาและมีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก คือ “บรรจุภัณฑ์ฉลาดสำหรับทุเรียน” สิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้ชื่นชอบ รับประทานทุเรียนโดยตรง ที่มักประสบปัญหาเรื่องกลิ่นทำให้ไม่สามารถพกพาไปที่ไหนได้
บรรจุภัณฑ์ฉลาดบรรจุทุเรียน เพื่อการส่งออก |
รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานได้เผยว่า บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวผลิตขึ้นเพื่อยกระดับการส่งออกเนื้อทุเรียนไปยังต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเก็บกลิ่นจากการใช้สารดูดซับกลิ่นที่ผลิตจากเปลือกทุเรียนแล้ว ยังช่วยรักษาเนื้อทุเรียนให้คงสภาพอยู่ได้ถึง 30-45 วัน ความโดดเด่นดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลระดับดีเด่น ผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสภาวิจัย ประจำปี 2557 ไปครอง
อีกสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ และได้รับความสนใจจากเยาวชนที่ร่วมงาน คือ “อุปกรณ์ป้องกันนกเกาะสายอากาศมอนิเตอร์ของระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ” ที่มีสีสันสวยงามและสามารถหมุนได้ ซึ่ง นายสมคิด ศรีเชียงสา วิศวกรบริหารระบบ ศูนย์ควบคุมการบินพิษณุโลก ผู้ประดิษฐ์ เผยว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาใกล้ตัว เนื่องจากหอบังคับการบินของสนามบินทุกแห่งจะมีสายอากาศ เพื่อส่งสัญญาณไปยังอากาศยานที่มักประสบปัญหานกมาก่อกวนเกาะบริเวณสายอากาศ หรือถ่ายมูลสกปรกจนทำให้การรับส่งสัญญาณมีปัญหา
นายสมคิด ศรีเชียงสา วิศวกรบริหารระบบ ศูนย์ควบคุมการบินพิษณุโลก |
สมคิดจึงสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อไล่นกแบบไม่ใช้ไฟฟ้า และไม่ทำให้นกได้รับอันตราย โดยเลียนแบบเครื่องวัดทิศทางลมของกรมอุตุนิยมวิทยาที่หมุนได้เองจากแรงลมธรรมชาติ โดยใช้ท่อพีวีซีนำมาติดตั้งบนสายอากาศ แทนที่การใช้เอ็นขึงหรือตาข่ายคลุมกันนกที่มีราคาแพงและมีอายุการใช้งานเพียงแค่ 1 ปี
“เพียงเท่านี้นกก็จะไม่มาเกาะเพราะเครื่องจะหมุนอยู่ตลอดเวลา และธรรมชาติของนกก็ไม่ชอบสีสันสะท้อนแสง จึงได้นำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้สำหรับทาสีของอุปกรณ์ด้วย” สมคิดเผย
ถัดมาเป็น "นิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ" ซึ่งเจ้าของผลงานชาวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่พวกเขาได้ทำขึ้น ให้แก่ผู้สนใจชาวไทยได้ชม โดยในปีนี้มีประเทศที่ส่งนักวิจัยและผลงานวิ่งประดิษฐ์มาร่วมจัดแสดงถึง 14 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, อียิปต์, อิรัก, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อิหร่าน, มาเก๊า, จีน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, โรมาเนีย, ฮ่องกง และญี่ปุ่น
หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ต่างชาติมีผลงานนักประดิษฐ์ตัวเล็กจากอินโดนีเซียมาร่วมด้วย นั่นคือผลงานของ ด.ช.นูวร์ อาเหม็ด วิบิโซโน (Nur Ahmed Wibisono) อายุ 10 ปี จากโรงเรียนเซอร์ยา บัวนาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเผยว่า เด็กๆ ในประเทศของเขาบริโภคนมเยอะมาก ทั้งในรูปนมสดและนมผง แต่บางครั้งการดื่มนมสดก็ทำให้ได้รับไขมันมากเกินไป และเขาก็ไม่เคยรู้เลยว่านมที่เขาดื่มมีไขมันมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งเครื่องมือตรวจวัดก็มีราคาแพง
วิบิโซโนจึงประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณไขมันในนมขึ้น โดยอาศัยกลไกของมอเตอร์ขนาดเล็กที่จะเข้าไปปั่นนมจนเกิดการแยกส่วนกัน เพียง 10 นาทีเท่านั้นไขมันของนมก็จะลอยขึ้นมาที่บริเวณด้านบนของหลอดทดลอง ทำให้สามารถวัดค่าได้ว่านมจากแหล่งไหนมีปริมาณไขมันเท่าไร
นอกจากนี้ยังมีส่วนของการจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์คนไทยที่ เคยได้รับรางวัลระดับนานาชาติอีกด้วย อาทิ สิ่งประดิษฐ์สายอากาศแอร์ฟอร์ซแอนเทนนา สำหรับเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบไร้สาย (Air Force Antenna for Wireless Computer Network Connection) ผลงานจากโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ซึ่งนักเรียนนายเรืออากาศ ชนสร เฉลิมทรัพย์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ เผยว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์สายอากาศเพื่อเชื่อมสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบไร้สาย ต้นทุนต่ำ สำหรับการขยายสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ณ จุดที่ยังไม่มีเครือข่ายใยแก้วนำแสง โดยใช้เพื่อเป็นเครือข่ายคู่ขนาน เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายหลัก หรือสำรองกรณีเส้นใยแก้วนำแสงขาดเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ด้วยสายไฟ ซึ่งสิ่งประดิษฐ์นี้ได้เข้าร่วมแข่งขันและได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีการ ประกวดประดิษฐ์จากหลายประเทศทั้ง เกาหลี ไต้หวัน และสวิสเซอร์แลนด์
นายอดิศักดิ์ ปัญญาสิม จ.ลำพูน กับ รถช็อปเปอร์ล้อไม่มีดุม |
ถัดมาเป็น "นิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน" ที่มีสิ่งประดิษฐ์มาจัดแสดงให้ชมมากถึง 356 ผลงาน แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ อาทิ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่ออุตสาหกรรม, เพื่อสังคม, เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่, กลุ่มจินตนาการสำหรับอนาคต ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ดูจะเป็นที่ชอบอกชอบใจของเหล่าบรรดาวัยรุ่นชาย คือ “รถช็อปเปอร์ล้อไม่มีดุม” ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นจากความชื่นชอบรถช็อปเปอร์เป็นการส่วนตัวของ นายอดิศักดิ์ ปัญญาสิม ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน ที่พยายามดัดแปลงรถให้มีหน้าตาคล้ายกับช็อปเปอร์ไร้ดุมล้อในต่างประเทศ แต่สามารถทำได้ในราคาที่ถูกกว่า โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนล้อโดยใช้ลูกปืนคล้ายกับล้อรถถังแทนการใช้ดุมล้อ ที่แม้นายอดิศักดิ์ จะบอกว่า ยังไม่สามารถวิ่งได้เร็วหรือใช้ในระยะทางไกลๆ เท่าที่ควร แต่ก็ได้ความสุขที่ได้ประดิษฐ์สิ่งของที่ตัวเองชื่นชอบจนสำเร็จด้วยตัวเอง
ในส่วนของนิทรรศการนี้ยังมีผลงาน นายกิตติศักดิ์ พลายแดง นักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพพระสมุทรเจดีย์ ที่ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง จากแรงบันดาลใจใกล้ตัวที่เขาสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงระดับของระดับความ เร็วของน้ำในเวลาน้ำขึ้นน้ำลงเนื่องจากวิทยาลัยฯ ตั้งอยู่ใกล้คลองลัดโพธิ์ โดยกลไกการทำงานไม่แตกต่างจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั่วไป ที่ต้องทำให้ใบพัดหมุนได้ เพื่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าไปสะสมที่แบตเตอรี
“สิ่งประดิษฐ์ที่ผมกับเพื่อนคิดขึ้นนี้ ผมนำมาจากเรื่องใกล้ตัว เพราะวิทยาลัยอยู่ใกล้กับคลองลัดโพธิ์ การเกิดน้ำขึ้นน้ำลงทุกวันจะทำให้กระแสความแรงของน้ำเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ผมเลยคิดว่าถ้าเราเอากังหันไปตั้งมันคงหมุนได้ตลอดทั้งวันแน่ จึงเป็นที่มาของสิ่งประดิษฐ์นี้ ที่ถ้าหากแบตเตอรี่ถูกชาร์จเต็ม จะสามารถนำพลังงานมาใช้เปิดหลอดนีออนได้ถึง 4 ดวง” กิตติศักดิ์เผย ซึ่งผลงานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขึ้นน้ำลงนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ สิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาอีกด้วย
ส่วนสุดท้ายคือส่วน "นิทรรศการการพัฒนาหุ่นยนต์สร้างบ้าน” ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของการจัดงานในครั้งนี้ และมีนักประดิษฐ์จำนวนมากโดยเฉพาะนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันต่างๆ หันมาให้ความสนใจ และเริ่มจัดทำหุ่นยนต์สร้างบ้านขึ้น
Cr.ผู้จัดการ โพสท์