4 เม.ย. 2558

ทัวร์รอบโลก ด้วยสองล้อ กับ 'ตงค์ เสริมธนชาติ'

ทัวร์รอบโลก ด้วยสองล้อ กับ 'ตงค์ เสริมธนชาติ'

       วิทิตนันท์ โรจนพานิช กำลังชู พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ที่ระดับความสูง 29,028 ฟุตบนยอดเขาเอเวอร์เรสต์ เขาใช้เวลา 9 ปีเพื่อบรรลุภารกิจ 


       หลายปีก่อนขณะที่คุณเดินทางไปทำงานตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นบนเส้นทางเดิมๆ สองสามีภรรยา หมูและวรรณ (เจริญ และอรวรรณ โอทอง) ปั่นจักรยานไปยังประเทศต่างๆ รอบโลกด้วยระยะเวลา 5 ปี 11 เดือน กับอีก 1 วัน


       และใน วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2557 เวลา 8.30 น. ขณะที่คุณอาจจะยังหลับใหลในความฝัน หนุ่มวัยต้น 30 คนหนึ่งสตาร์ตมอเตอร์ไซค์คู่ใจของเขาออกจากกรุงเทพฯ และอีก 6 เดือนหลังจากนั้น เขาเดินทางรอบโลกได้สำเร็จ 

 
       ทั้ง 3 ภารกิจนี้ มีจุดเริ่มต้นและจุดจบเดียวกันคือ ‘ลิ้มรสปลายทางแห่งความฝัน’
       จะว่าไป... ความฝันมันเป็นอะไรที่แปลก เกิดง่ายแต่ทำยาก และหลายครั้งก็ค้างคาอยู่แค่ในความรู้สึกนึกคิดจนฝันนั้นตายจากไปพร้อมเจ้าของ


            ตงค์-เสริมธนชาติ คูณแสนโชติสิน ชายหนุ่มผู้รักมอเตอร์ไซค์และฝันอยากมองโลกแสนไกลด้วยสองล้อ เริ่มต้นฝันในวัยเด็กว่าตัวเองยืนอยู่อีกขอบทวีปของโลก 15 ปีผ่านไปฝันนั้นไม่เคยเจือจาง แต่กลับยิ่งกระหายที่จะออกไปค้นพบ


       หลังจากใช้เวลา 180 วัน กับระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร เมื่อภารกิจแห่งความฝันสิ้นสุดลง เขาบอกกับเราอย่างเรียบง่ายโดยไม่มีท่าทีของผู้พิชิตว่า


 ตงค์-เสริมธนชาติ คูณแสนโชติสิน ชายหนุ่มผู้รักมอเตอร์ไซค์

       “การเดินทางรอบโลกมัน เรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่น ความศรัทธาที่มันได้กลับมาเต็มเปี่ยม ...คุณลองถามตัวเองดูว่าวันนี้ศรัทธาตัวเองแค่ไหน”
       และจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือเรื่องราวที่เขาขุดค้นพบในหัวใจของตัวเองขณะออกเดินทาง ‘ตามฝัน’  
 

   กิโลเมตรแรก

       8 กุมภาพันธ์ 2558 แสงยามบ่ายสาดจ้าจนแสบตา แต่ภายในโชว์รูมของ Touratech Thailand กลับมืดมิด นักบิดทั้งไทยและเทศหลายคนกำลังจ้องมองอยู่ที่ภาพบนจอสไลด์ มันเป็นภาพการเดินทางของ Heiko Gantenberg หนุ่มใหญ่ชาวเยอรมัน หรือที่ศิลปินนักสักระดับโลกรู้จักเขาในนาม Dr. Notch ชายอีกคนที่กำลังเดินทางรอบโลกกำลังอธิบายเรื่องราวบนเส้นทางที่ท้าทายหัวใจ ตัวเอง จากยุโรป ผ่านตุรกี อิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย พม่า เขาแวะพักที่ไทย ก่อนจะลงไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้าออสเตรเลีย และส่งรถไปอเมริกาเพื่อขับไปอะแลสกาต่อ เรานัดพบตงค์ครั้งแรกในงานนี้หลังทริปรอบโลกของเขาสิ้นสุดลงเมื่อไม่กี่ เดือนมานี้
      
       “มันเป็นฝันในวัยเด็กที่ชื่นชอบและหลงรักในสองล้อ มันไม่ใช่แค่มอเตอร์ไซค์นะ เราเป็นมาตั้งแต่จักรยาน พอขี่จักรยานได้รู้สึกว่าชอบ มันอิสระ มีความสุขในการขี่มัน 4-5 ขวบนะที่โมเมนต์นั้นเกิดขึ้น”
      
       ตงค์เป็นคนจังหวัดเลย เติบโตในครอบครัวชาวจีน เขาเหมือนเด็กหนุ่มทั่วไปที่รักในสองล้อ เริ่มต้นจากจักรยานและตามต่อด้วยมอเตอร์ไซค์ จากเครื่องยนต์ 50 ซีซีก็เริ่มขยับมาเป็น 100 จากขี่ข้ามตำบลก็ขยับมาเป็นอำเภอ จังหวัด และข้ามภาคในที่สุด
      
       “ทริปแรกที่ไกลๆ ก็ขี่ขึ้นเชียงใหม่ ตอนอายุ 15 ไปกับพี่ชายสองคน ขี่เวสป้าไปจากเลยขึ้นเชียงใหม่ หลังจากนั้นมาก็เริ่มคิดเรื่อยๆ ว่าเราจะเดินทางให้ไกลกว่านี้”
      
       จากช่วงแรกที่เริ่มกับรถเล็กๆ ในวัยเรียน เขาเริ่มเก็บเงินทีละนิดเพื่อที่จะได้ครอบครองรถซีซีที่มากขึ้น เพื่อใช้ในการเดินทางที่ไกลขึ้น ตามความแรงของวันวัยเขาซื้อรถบิ๊กไบค์คันแรกในแบบสปอร์ต แต่เมื่อขี่ได้สักพักใหญ่ มันกลับไม่ใช่สิ่งที่จะพาไปค้นหาคำตอบ เขาหันมาเล่นรถสาย Adventure ที่ขี่ได้ไกลและสบายมากขึ้น
      
       “เสน่ห์การเดินทางไกลมันอยู่ตรงไหนน่ะเหรอ? อยู่ระหว่างทาง คือการเดินทางที่เร็วที่สุดคือนั่งเครื่องใช่ไหม รองมาก็ขับรถยนต์ไป แต่การขี่มอเตอร์ไซค์มันได้สัมผัสสายลม สัมผัสกลิ่น หรือได้สัมผัสอะไรที่ง่ายกว่า คล่องตัวกว่า อย่างเราอยากไปดูหมู่บ้านนี้ อยากไปถ่ายรูปต้นไม้ตรงนี้ มันทำได้ง่ายๆ เสน่ห์ของการเดินทางมันอยู่ที่เรื่องราวระหว่างทาง ไม่ได้อยู่ที่จุดหมาย จุดหมายมีแค่ไปให้ถึงแล้วก็กลับเท่านั้นเอง ผมไม่ได้ตื่นเต้นกับจุดหมาย แต่ตื่นเต้นว่าระหว่างทางจะเจออะไรมากกว่า มันเป็นความสุขที่ยาวกว่า”
      
       ถ้าคุณคิดตาม... การขี่รถมอเตอร์ไซค์ไกลๆ บนถนนปูนท่ามกลางแดดระอุนั้นไม่ใช่เรื่องสบาย ยิ่งไกลมากเท่าไหร่ยิ่งต้องอดทนกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากเท่านั้น แต่...
      
       “เรารักมัน เหมือนกับคนเล่นกีฬา คนบ้าอะไรไปเดินตีกอล์ฟทั้งวัน ร้อนก็ร้อน ...แบบเดียวกัน”
  
   พรมแดนมีไว้ให้ข้าม

   พรมแดนมีไว้ให้ข้าม

       จากขี่มอเตอร์ไซค์ไกลๆ ไปยังอีกจังหวัดหนึ่งในภูมิภาคหนึ่ง ตงค์เริ่มขีดแผนที่ใหม่โดยลากหลุดขอบประเทศ ไม่ใช่จู่ๆ ก็พรวดพราดไป แต่เขาเริ่มจากทักษะเล็กอย่างที่ว่ามา เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ทั้งเรื่องการขับขี่ เรื่องการซ่อมรถด้วยตัวเอง ฝึกหัวจิตหัวใจให้อดทนและรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ขยับเส้นทางไกลไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็มองเห็นโลกเป็นขอบฟ้าที่ต้องขี่ไปให้ถึง
      
       “มันเหมือนกับเป็นนักมวย เราเริ่มจากเป็นนักมวยหมู่บ้าน แล้วก็มาเป็นตำบล จังหวัด ภาค แล้วก็ต่างประเทศ ทีนี้นักมวยทุกคนก็อยากได้แชมป์โลก ขี่มอเตอร์ไซค์ แชมป์โลกของเราก็คือการได้เดินทางรอบโลก เราเก็บประสบการณ์มา 15 ปีเพื่อรอและตกผลึก มันไม่ใช่ว่าเราต้องเป็นผู้ใหญ่พอหรอก แต่เราเลือกที่จะทำหรือเปล่า หรือว่าเรารออะไร? แล้วเรารอไปเพื่ออะไร? นั่นคือสิ่งที่มันคาหัวใจ ถ้าเราฝันแล้วเราทำมันเลย ความเป็นจริงมันก็เกิดขึ้น ไม่ต้องไปติดค้างในความรู้สึก ยิ่งถ้าเราปล่อยระยะเวลานานออกไปแล้วไม่ทำ มันจะเบื่อหน่ายกับตัวเองแล้วก็หมดความศรัทธาในตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งหลายๆ คนจะเป็นแบบนั้น จนแก่แล้วก็ยังไม่ได้ทำ เมื่อเราขาดศรัทธาในตัวเอง เราก็จะคิดว่าทำโน่นนี่นั่นไม่ได้ เราสำเร็จได้แค่นี้ วาสนามีแค่นี้ บุญมีแค่นี้ กำลังมีแค่นี้ ตัดพ้อน้อยใจตัวเอง ตายไปก็ยังไม่ได้ทำ ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ผมเลือกที่จะทำมันเลย เลือกที่จะแลกกับมัน มันไม่มีอะไรได้มาสวยหรูไปหมด มันได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ผมใช้คำว่าแลก”
      
       เมื่อเป้าหมายเริ่มต้น เขาก็เริ่มศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการเดินทางรอบโลก รวมถึงสะสมเงินให้มากพอที่จะใช้จ่ายไปตลอดเส้นทาง ซึ่งในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าเขาค้นพบว่าเงินที่ลงไปนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับทริปที่ ยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร ด้วยความที่เป็นคนกินมังสวิรัติจึงมีค่าใช้จ่ายไม่มากกับเรื่องอาหาร แต่รักในการพักผ่อนและออกกำลังกาย ค่าใช้จ่ายจึงมาชดเชยกันในด้านนี้
 



     เส้นทางที่ตงค์วางไว้นั้นเริ่มจากประเทศไทย เข้าลาว ไปจีน มองโกเลีย รัสเซีย วิ่งผ่านเส้นแบ่งยุโรปและเอเชียที่กรุงมอสโก ต่อไปที่ยุโรปจนสุดขอบทวีป และส่งรถมาขี่ต่อที่อเมริกา โดยเส้นทางนี้เขาเลือกและคิดด้วยตัวเอง ในระหว่างการเดินทางต้องมีการตรวจเช็กรถและร่างกายเป็นระยะ เพราะทริปนี้เขาไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้น ซึ่งนั่นจะหมายถึงหายนะต่อการเดินทางรอบโลกด้วยตัวคนเดียว
       “มันตื่นเต้น วันแรกที่รู้ตัวว่าต้องออกเดินทางแล้ว ไปรอบโลกแล้ว ใจหนึ่งก็คิดว่าต้องไปให้ถึง ประคองมันไปให้ได้ มันแลกกันเลย แลกกับชีวิตประจำวันที่เราต้องตื่นเช้าไปทำงาน ต้องดูแลครอบครัว หยุดหมดเพื่อที่จะมาทำตรงนี้ ถามว่ากลัวไหม? ไม่เคยมีความกลัว เพราะทุกย่างก้าวของเรามันอยู่ด้วยสติ เรามองออก เราวางแผนไว้ทุกอย่าง เรื่องรถ เรื่องรอบเครื่อง เรื่องถนนที่จะไป เรื่องอุบัติเหตุที่จะเกิดได้ เราแพลนไว้หมด แค่ประคองให้ได้ตามแผนเท่านั้น


       “สติสำคัญที่สุด ผมไม่เคยมีอุบัติเหตุสักครั้งตลอด 40,000 กิโลเมตร ในระยะเวลา 6 เดือน ไม่เคยชนกับใคร มีแต่ไปถ่ายรูปที่แปลกๆ เอารถลงไปก็มีล้มแปะบ้าง แต่เมื่ออยู่บนถนนที่ต้องเดินทางเราก็ตั้งสติให้มั่นอย่างเดียว” 
 

        หัวใจมีไว้ให้เรียนรู้

       
       สิ่งที่ทำเป็นประจำเวลาที่ตงค์ต้องออกเดินทางไกลก็คือ ตรวจสอบของเหลวต่างๆ น้ำมันเครื่อง น้ำหม้อน้ำ น้ำมันเบรก น้ำมันโช้ก การทำงานของเครื่องยนต์ และละเอียดไปถึงขั้นหาค่าการยุบตัวของโช้กเมื่อบรรทุกสัมภาระเพื่อให้เกิด ความบาลานซ์ในการขับขี่มากที่สุด

       ในเรื่องแผนที่ เขาใช้เนวิเกเตอร์ดิจิทัลคอยบอกเส้นทางต่างทริป แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทบทวนอยู่เสมอ เพราะเส้นลากบนแผนที่กับเส้นทางบนถนนจริงนั้นรายละเอียดต่างกันลิบลับ

       แต่สิ่งที่ต้องเตรียมมากที่สุดในการเดินทางไกลตามลำพัง นั่นคือ หัวใจของตัวเอง

       “เวลาที่อยู่คนเดียวในสถานที่ที่เราไม่รู้จัก ผมจะอยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบันที่มันเกิดขึ้น ณ เวลานั้น เสพบรรยากาศไปกับมัน ถ้าอยู่กับปัจจุบันเราไม่ต้องไปฟุ้งกับอะไร ถ้าคุณคิดมากคุณก็กลัวมาก เมื่อกลัวก็ไม่กล้าที่จะไปไหน ผมเป็นคนที่ปฏิบัติอยู่แล้วนะ ทำวิปัสสนาประจำ อยู่กรุงเทพฯ ก็ไปสวดชินบัญชรที่วัดระฆังเป็นประจำ ทำแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว มันได้ผลกับสมาธิ ได้ทำให้จิตเรารู้ว่าขณะนี้เราทำอะไรอยู่ แล้วก็จดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ มันสุขในเวลานั้น”

       ดูย้อนแย้ง ไม่เข้าพวกกับภาพของผู้ท่องโลกท้าทายสายลมและแสงแดด แต่ใช่หรือไม่? ใจกลางของความสำเร็จมากมายหลากหลายบนโลกใบนี้ ล้วนเริ่มจากบ่อน้ำที่นิ่งสงบในใจเราเอง

       “ความหวาดหวั่นมันจะเกิดขึ้นในวันที่เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย แต่มันก็ทำให้เราเข้าใจชีวิตนะว่านี่มันคือปัญหา เราออกเดินทางมาเพื่อเจอกับปัญหา เพื่อเรียนรู้กับมัน แก้ไขมัน ฉะนั้นแล้วในวันที่สภาพอากาศเลวร้ายมาก เราก็ต้องเดินต่อ ผมเจอ -7 องศาเซลเซียส บวกลมและฝนเข้าไปอีกยิ่งหนาวมากขึ้น อันนั้นเราควบคุมไม่ได้ ร่างกายก็ส่วนร่างกาย แต่ใจเราเตรียมพร้อมมาอยู่แล้วว่าต้องเจอกับมัน แน่นอนเราพร้อมเจอทุกปัญหา เรียนรู้ และยอมรับมัน นั่นคือสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ

       “อย่างคนที่ไม่เรียนรู้กับปัญหา ไม่เข้าใจมัน คิดแต่แง่บวกตลอด ชีวิตเขาจะต้องดี ต้องได้ ต้องสมบูรณ์แบบ วางแผนทุกอย่างแล้วต้องเป๊ะ ชีวิตมันไม่ใช่แบบนั้น มันคือการเรียนรู้แล้วก็ยอมรับมัน ถ้าคุณยอมรับได้ก็อยู่ได้ แต่ถ้าไม่เรียนรู้คุณก็จะทุกข์วนเวียน คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้กับปัญหา”


 
เราถามเขาถึงต้นแบบ ตงค์ว่าถ้าชัดเลยก็ คำสอนในพุทธศาสนา เรียกว่าเขาซึมซับมาหลายสิบปี เข้าใจและเอามาใช้ออกแบบชีวิตได้ในทุกจังหวะเวลา
      
       “เหมือนเรื่องแฟน แฟนทิ้งคนแรกก็ทุกข์ฉิบหาย คนที่สองก็ทุกข์น้อยลง คนต่อๆ ไปก็ช่างแม่งเลย กูหาใหม่แล้ว จะมาทุกข์ทำไม นั่นไงคือการได้เรียนรู้มัน เรียนรู้บ่อยๆ เราจะเข้าใจ ปัญหาอื่นๆ ก็แบบเดียวกัน แต่สำคัญว่าต้องเรียนรู้กับมันก่อน ทำความเข้าใจแล้วจะไม่ทุกข์มาก อย่างผมเอาปืนมาจี้คุณ บอกให้ร้องไห้เดี๋ยวนี้ คุณทำได้ไหม? คุณทำไม่ได้ เช่นกัน เราบังคับให้แต่ละคนทุกข์ไม่ได้ เราเก็บมาทุกข์กันเอง ตัวเราเองยังกำหนดตัวเองไม่ได้เลย แล้วจะให้ใครมากำหนด พ่อแม่ยังกำหนดเราไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับผู้ชายคนหนึ่ง หรือผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ต้องได้ดั่งใจกัน มันไม่มีทาง
      
       “บางคนบอกว่ารักคือแรงบันดาลใจให้กับทุกอย่าง อย่างนี้คุณก็ไม่ต้องทำอะไรเลยทั้งชีวิต รักมันมาพร้อมกับทุกข์ คุณทุกข์ทั้งชีวิตเลย รักตัวเองก่อน ถ้าเราทำตัวเองให้ดี มีความสุขได้ คนรอบข้างก็มีความสุข ใครก็อยากอยู่ใกล้
      
       “ผมจะบอกกับผู้หญิงที่คบเสมอว่า เราไม่ใช่คนดีนะ แต่เลวสุดแค่นี้ และถ้าคบแล้วอย่าคิดว่าตัวเองเป็นนางเอกในละครหรือภาพยนตร์ ถามว่าทำไมในภาพยนตร์ในละครถึงมีแต่ผู้หญิงแบบนั้น? นั่นเพราะผู้หญิงบนโลกนี้เยอะกว่าผู้ชาย เวลาที่เขาทำอะไรออกมาก็จะทำ demand และ supply ผู้หญิงมีมากกว่ากำลังซื้อมีเยอะกว่า ลองทำตลาดผู้ชายสิ เจ๊ง! แล้วคนก็มองว่าผู้หญิงเขาเป็นกันทั้งโลก ไม่ใช่ มันเป็นการตลาด คุณโดนเขาหลอกอยู่” 



Cr. Mars Magazine