23 เม.ย. 2558

เราใช้สมองแค่ 10% แล้วเพิ่มได้ไหม ? คลิป

เราใช้สมองแค่ 10% แล้วเพิ่มได้ไหม ?


เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำพูดว่า

            "มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้สมองเพียงแค่ 10% เราสามารถใช้งานสมองที่เหลือ 90% ได้ ถ้าเรา            <เติมคำในช่องว่าง>" 

จากเพื่อน ญาติพี่น้อง คุณครู เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือแม้กระทั่งจากในคำสอนของบางวัด บางนิกาย และในบางทีได้มีการอ้างว่าเป็นความเห็นของบุคคลสำคัญ (เช่น อัลเบิร์ต ไอสไตน์)

ต้นตอของความเชื่อ


มีความเป็นไปได้สูงที่ความเชื่อนี้เริ่มต้นมาจาก บทความ The Energies of Men ของนายวิลเลียม เจมส์ (William James) นักจิตวิทยาจากมหาลัยฮาร์วาร์ด ที่ตีพิมพ์เมื่อปี คศ. 1907 เกี่ยวกับทฤษฎี 'พลังงานสำรอง' ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า "ในภาวะปกติ มนุษย์เราไม่ได้ใช้ประสิทธิภาพทางร่างกายและสมองถึงขีดสุด โดยประสิทธิภาพที่ไม่ได้ใช้ที่เรียกว่าพลังงานสำรองนี้ จะถูกเรียกใช้ในเหตุการณ์พิเศษโดยจิตใต้สำนึกของเรา เมื่อถูกกระตุ้น พลังงานสำรองในตัวเรานี้จะทำให้เราสามารถทำในสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ในภาวะปกติ" ("We are making use of only a small part of our possible mental and physical resources")

ทฤษฎีนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเมื่อนายโลเวล โทมัส (Lowell Thomas) นักเขียนชาวอเมริกันได้สรุปทฤษฎีของนายวิลเลียม พร้อมเพิ่มตัวเลขเปอร์เซ็นต์ลงในคำนำของหนังสือจิตวิทยายอดนิยม How to Win Friends and Influence People (PDF) ของนายเดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) โดยได้กล่าวไว้ว่า "ศาสตราจารย์วิลเลียมจากฮาร์วาร์ด ได้เคยกล่าวไว้ว่า โดยเฉลี่ย มนุษย์ใช้ประสิทธิภาพสมองแค่ 10%" ("Professor William James of Harvard used to say that the average person develops only 10 percent of his latent mental ability")

ข้อมูลทั่วไปและมุมมองทางวิทยาศาสตร์


ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับคำถามว่า 10% ของสมองที่พูดถึงนั้นหมายถึงอะไร? ใช่หมายถึงว่าในกะโหลกศีรษะนั้นมีส่วนนับเป็น'สมอง'อยู่ 10% แล้วที่เหลือเป็นขี้เลื่อย? หรือว่าทั้งหมดในหัวเรานั้นเป็นสมองหมดแต่ทำงาน ณ ขณะหนึ่งๆ เพียง 10%?

เริ่มที่ส่วนประกอบของสมอง สมองที่เราเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือเซลล์ประสาท (neuron) ซึงหน้าที่ของมันคือทำหน้าที่ส่งสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นองค์ประกอบประมาณ 15% ของสมอง ส่วนที่เหลือคือ เซลล์เนื้อสมอง (glial cells) ซึ่งทำหน้าที่ จัดระเบียบเซลล์ประสาท, ส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง, คอยแยกเซลล์ประสาทออกจากกัน, กำจัดเชื้อโรคและเซลล์ประสาทที่ตายแล้ว โดยสมองเราจะประกอบด้วยเซลล์เนื้อสมองประมาณ 85% ซึ่งถ้าอ่านคร่าวๆ น่าจะดูเหมือนเรายังมีโอกาสที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของสมองให้มากขึ้นไปกว่า 15% นี้โดยแปลงเซลล์เนื้อสมองให้กลายเป็นเซลล์ประสาท แต่ในความเป็นจริงความเป็นไปได้ที่จะให้เซลล์เนื้อสมองนี้กลายเป็นเซลล์ประสาทในสมองเรานั้นแทบจะไม่ต่างจากความเป็นไปได้ในการที่จะให้เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว (epithelium) บนมือเรากลายเป็นเซลล์เนื้อเยื่อประสาท (nervous tissue) ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในธรรมชาติ

แล้วสมองเราอู้งานบ้างไหม? งานวิจัยที่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ข้างล่างนั้นได้ยืนยันว่าสมองเราทำงานแบบแทบที่จะไม่ได้หยุดพัก สามารถสรุปย่อๆ โดยที่ถ้าเราแบ่งลักษณะการทำงานของสมองออกเป็นสองช่วง คือช่วงที่เรามีใช้งานสมองของเรา (normal activity) และช่วงที่เราพักผ่อน (resting-state activity) นักวิจัยได้สังเกตการทำงานของสมองด้วยเทคนิคการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (functional magnetic resonance imaging หรือ fMRI) ซึ่งสามารถแสดงการหมุนเวียนของเลือดในสมอง โดยเทคนิคในการวินิจฉัยนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงทีว่า สมองส่วนที่ทำงานอยู่จะต้องการเลื้อดไปเลี้ยงมากกว่าปกติ และพบว่า ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองในภาวะพักผ่อนนั้นน้อยกว่าภาวะปกติเพียง 5-10%

ในมุมมองของนักพันธุกรรมที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตจะวิวัฒนาการเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ (natural selection) เชื่อว่าถึงแม้มันมีความเป็นไปได้ที่ธรรมชาิตจะสรรค์สร้างวิวัฒนาการที่แปลกประหลาดออกมา แต่มันเป็นเรื่องที่ตลกมากที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่จะมีอวัยวะที่ต้องการพลังงานไปหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก สูงสุดได้ถึง 20-25% เทียบกับพลังงานที่ทั้งร่างกายต้องการ แถมยังใหญ่กว่าที่จำเป็นที่จะต้องมีถึงสิบเท่า เพื่อให้มันเป็นจุดอ่อนของร่างกายและทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนคลอด

งานวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมอง


ก่อนจะพูดถึงงานวิจัย ผมขอพูดถึงศัพท์เทคนิคสองคำที่ได้พูดถึงเล็กน้อยไปก่อนหน้านี้ คือ สมองในภาวะที่เราใช้ใช้งาน (normal activity) ที่ผมจะขออนุญาตเรียกว่า 'สมองภาวะปกติ' และสมองในช่วงที่เราพักผ่อน (resting-state activity) ที่ผมจะของเรียกว่า 'สมองภาวะพักผ่อน'

การทดลองชิ้นแรกๆ ที่ได้อธิบายถึงการทำงานของสมอง เกิดขึ้นที่วิทยาลัยการแพทย์วิสคอนซิน เมื่อนักศึกษาปริญญาเอก บารัต บิสเวล (Bharat Biswal) พยายามจะกรองสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นสัญญาณรบกวน (noise) ที่่เกิดขึ้นตลอดเวลาออกจากข้อมูลที่เขาได้รับจากเครื่อง fMRI ซึ่งในภายหลัง เขาพบว่า แม้ว่าขณะที่คนไข้คนเดิมของเขากำลังพักผ่อน ข้อมูลจากเครื่อง fMRI ก็ยังแสดงถึงสัญญาณรบกวนที่มีหน้าตาเหมือนเดิมออกมา ซึ้่งทำให้เกิดข้อสรุปว่าสมองเรานั้นทำงานตลอดเวลา และต่อมาภายหลังสัญญาณรบกวนนี้ได้ถูกเรียกว่าสมองภาวะพักผ่อน

ถัดจากนั้นมาก็เริ่มมีงานค้นคว้าผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดว่าสมองทำอะไรในภาวะพักผ่อน เริ่มต้นที่ทีมวิจัยนำโดยนาย Marcus Raichle จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน โดยได้คนพบว่า สมองภาวะพักผ่อนจะทำงานน้อยลงเมื่อสมองภาวะปกติทำงาน และกลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อสมองภาวะปกติหยุดทำงาน เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ลองเปรียบเทียบการทำงานของสมองกับแบนด์วิดท์ โดยที่สมองภาวะพักผ่อนคือเรากำลังดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมากอยู่ และสมองภาวะปกติคือเรากำลังดู YouTube คือเมื่อขณะที่เราดูหนัง แบนด์วิดท์ที่ใช้การดาวน์โหลดข้อมูลจะลดลง (เปรียบเหมือนสมองภาวะพักผ่อนทำงานน้อยลง) และกลับมาใช้เยอะอีกครั้งหลังจากที่เราดูหนังเสร็จ (เปรียบเหมือนสมองภาวะปกติหยุดทำงาน)

จาก การทดลองเพิ่มเติมในลิง, การค้นพบว่าสมองภาวะพักผ่อนทำงานผิดปกติในคนที่เป็นอัลไซเมอร์ และ การที่สมองภาวะพักผ่อนมีการทำงานมากผิดปกติในเด็กออทิสติก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้้งคำถามว่าสมองภาวะพักผ่อนนี้ต้องทำอะไรสักอย่างที่สำคัญมากแน่นอน ถึงแม้จะยังไม่สามารถหาคำตอบได้ในขณะนั้นก็ตาม

ถัดจากนั้นกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ทำการทดลองบนสมมุติฐานที่ว่า สมองภาวะพักผ่อนจะคาดเดาและประมวลผลเพื่อรองรับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคต โดยเปรียบเทียบกับการทำงานของรถยนต์ว่า เหมือนรถยนต์ที่ได้สตาร์ทเครื่องไว้และพร้อมจะออกตัวได้เสมอ (“If your car is ready to go, you can leave faster than if you have to turn on the engine.”) การทดลองทำโดย สแกนสมองผู้ที่เข้าทำการทดลองแล้วให้ผู้ที่เข้าทำการทดลองดูภาพซึ่งสามารถจะมองเป็นหน้าคนหรือแจกันก็ได้ ผลปรากฎว่าผู้เข้าทำการทดลองที่บอกว่าเป็นรูปหน้าคนนั้น จากข้อมูลที่ได้สแกนมาล่วงหน้า มีการทำงานในส่วนที่แยกแยะใบหน้ามากกว่าผู้เข้าทดลองที่บอกว่าเป็นแจกัน ผลการทดลองนี้ทำให้เชื่อได้ว่า สมองภาวะพักผ่อนจะทำหน้าที่ประมวลผลล่วงหน้าเพื่อรองรับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากสมองจะทำงานตลอดเวลาแล้ว ยังมีงานวิจัยที่บ่งบอกว่า การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทนั้นเปลี่ยนไปตามอายุและการเรียนรู้ของเรา โดยให้ผู้เข้าทดลองทำกิจกรรมที่ต้องจดจ่อกับการเคลื่อนไหวของเป้าหมาย ซึ่งผลก็คือ ในภายหลัง เมื่อผู้เข้าทดลองพักผ่อน สมองภาวะพักผ่อนที่ถูกปลุกขึ้นมาทำงานนั้นจะทำงานในส่วนที่วิเคราะห์การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้แล้วยังมีงานวิจัยที่ต่อเนื่องออกมาระบุว่า สมองภาวะพักผ่อนนอกจากจะช่วยในการทำงานในอนาคตแล้วยังทำการประมวลผลเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้การเป็นความจำระยะยาวด้วย

หมายเหตุ ที่ต้องหยิบยกประโยครวมทั้งชื่อหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษมาใส่นี้เพื่อให้ผู้อ่านค้นหาย้อนกลับได้ง่ายขึ้น (ถ้าไม่ได้คีย์เวิร์ด ผมแทบจะยืนยันความถูกต้องของเนื้อหาที่ผมหามาจำนวนมากไม่ได้)


Cr. BBC, wiki, How to Win Friends and Influence People (PDF), Nature