12 ก.ค. 2559

การศึกษาไทย ในสายตาชาวโลก




สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และธนาคารโลกจัดเสวนาเดินหน้าการศึกษาไทยอย่างไรให้ตอบโจทย์ ‘Thailand Economy 4.0’ จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์การศึกษารุ่นใหม่ในสายตาชาวโลก

แม้อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของไทยจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บัณฑิตที่จบออกมากลับมีความสามารถต่ำลง จากผลทดสอบนานาชาติ PISA นักเรียนไทยจำนวนมากยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในอาชีพ หรือการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดย 1 ใน 3 ของนักเรียนไทยที่อายุ 15ปี รู้หนังสือไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้ และยังมีช่องว่างทักษะขั้นพื้นฐานอย่างการอ่านของเด็กไทยเปรียบเทียบในชนบทและในเมืองต่างกันมากถึง 3 ปีการศึกษา

ในสายตาชาวโลกหากเปรียบเทียบกับเวียดนาม จะพบว่าความสามารถของนักเรียนเวียดนามแซงหน้าเด็กไทยถึง 1.5 ปีการศึกษา นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเมินลงทุนประเทศไทย เบนเข็มไปลงทุนและย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะคุณภาพแรงงานไม่พัฒนา ยังไม่นับรวมปัจจัยด้านคุณภาพของระบบราชการไทยและตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลที่ดีลดลง ขณะที่ประเทศอื่นๆปรับปรุงดีขึ้น

ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่ Economy 4.0 ด้วย Education 2.0 ซึ่งไม่สามารถช่วยให้ผู้ที่เรียนจบปรับตัวให้เข้ากับโลกของการทำงานได้ เกิดปัญหาช่องว่างทางทักษะที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจปรับตัวแต่แรงงานไทยปรับตัวไม่ทัน ทำงานไม่ได้ตามที่นายจ้างคาดหวัง

หากเทียบกับผลสำรวจในสายตาชาวโลกของสหราชอาณาจักรและแคนาดา ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องช่องว่างทักษะรุนแรงกว่าสองประเทศนี้ถึงเท่าตัว และหากเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของทุนมนุษย์ไทยกับประเทศอื่นๆในเอเชียพบว่า ยังไม่ดีเท่ากับมาเลเซีย จีนและสิงคโปร์ ทั้งยังได้คะแนนคุณภาพการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าประเทศเวียดนามที่เริ่มต้นช้ากว่า 15-20 ปี หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าไทย การศึกษาไทยในในโลกยุคใหม่ต้องก้าวสู่การคิดวิเคราะห์ ค้นคว้าสิ่งใหม่ แต่ไทยยังท่องจำเพื่อไปสอบ ถ้าเรายังไม่ปรับตัวตอนนี้ เราอาจจะไม่ใช่สิ้นชาติ แต่จะหมดโอกาสในการสร้างชาติ

การศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพแรงงานคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Thailand Economy 4.0 ซึ่งระบบการศึกษาที่จะตอบโจทย์นี้ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน ลดการเรียนรู้เชิงเทคนิค และการท่องจำ แต่ให้น้ำหนักกับการสร้างทักษะการเรียนรู้และปรับตัวของผู้เรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต และจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่และกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งมีวิธีการประเมินผลการเรียนแตกต่างจากปัจจุบันที่เน้นการสอบเพียงอย่างเดียว

ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในอีก 5 ปีถัดจากนี้ จะเน้นการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานที่ใช้ “ทักษะการทำซ้ำเป็นประจำ” (Routine Skill) จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงกว่ามนุษย์และมีต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกกว่า

ดังนั้นแรงงานที่ยังไม่สามารถแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้คือแรงงานที่มี “ทักษะที่ไม่ซ้ำซ้อน (Non-Routine Skill) หรือ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” เช่นทักษะคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดวิเคราะห์ (Creative & Critical Thinking Skills) ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางธุรกิจในตลาดได้ สอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการแรงงานของนายจ้างและองค์กรเกิดใหม่ในปี 2557 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA)

พบว่านายจ้างขององค์กรในศตวรรษที่ 21 คาดหวังให้พนักงานในองค์กรมีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มากที่สุด โดยสสค.เป็นหนึ่งองค์กรการศึกษาใน 14 ประเทศทั่วโลกที่ OECD เชิญเข้าร่วมนำร่องเครื่องมือวัดประเมินทักษะด้านการคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะมีการประกาศใช้จริงครั้งแรกในปี 2021 เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศต่างๆเร่งพัฒนาทักษะแห่งอนาคตเหล่านี้เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องได้ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สู่สายตาชาวโลก

Cr.TNN24,SYNERGY+