6 ต.ค. 2559

เทคโนโลยี่ RFID

 
เทคโนโลยี่ RFID
เทคโนโลยี่ RFID

เทคโนโลยี่ RFID


RFID ย่อมาจากคำว่า Radio Frequency Identification เป็นระบบที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการใช้งานที่ระบบฉลากแบบบาร์โค้ดไม่สามารถใช้การได้ โดยจุดเด่นของ RFIDคือ ความสามารถในการอ่านข้อมูลของฉลากได้โดยที่ไม่ต้องมีการสัมผัส (Contactless) สามารถอ่านข้อมูลได้แม้ในทัศนวิสัยไม่ดี ทนความเปียกชื้น แรงสั่นสะเทือน การกระทบกระแทก และยังสามารถอ่านข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำ RFID มาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นในบัตรชนิดต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตร ATM บัตร เข้า-ออกสำนักงานหรืออาคารที่พัก ลานจอดรถ ฉลากสินค้า หรือแม้กระทั่งการฝังลงในตัวของสัตว์เพื่อเก็บประวัติของสัตว์ตัวนั้นๆ เป็นต้น


ระบบ RFID จะมีองค์ประกอบหลักๆด้วยกัน 3 ส่วน คือ
1. ป้าย (Tag, Transponder) คือ ตัวจัดเก็บและส่งข้อมูล ภายใน Tag จะ ประกอบด้วยขดลวดที่ทำหน้าที่เป็นสายอากาศและวงจรไมโครชิพที่ทำหน้าที่เป็น ตัวเก็บข้อมูล โดยจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุชิ้นนั้นๆเอาไว้ และจะส่งสัญญาณหรือข้อมูลไปตอบสนองที่ตัวอ่าน ซึ่ง Tag นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของบัตร เหรียญ ฉลาก หรือแม้แต่เป็นไมโครชิพที่ใช้ในการฝังภายในร่างกายหรือตัวสินค้าโดยทั่วไปแล้ว Tag จะมี 2 ประเภท

Active Tag
     - ต้องมีแหล่งพลังงานในตัว เพื่อจ่ายพลังงานให้กับวงจรไมโครชิพและส่งสัญญาณให้กับตัว Reader
     - ใช้งานในย่านความถี่ 455MHz, 2.4GHz หรือ 5.8GHz และสามารถอ่านได้ในระยะ 60-300 ฟุต
     - ส่วนใหญ่ใช้ในงานขนาดใหญ่ๆ เช่น ตู้คอนเทรนเนอร์ โกดังสินค้าขนาดใหญ่ รถรางต่างๆ ท่าเรือ ฯลฯ
     - มีอายุใช้งานจำกัด และไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้

Passive Tag
     - ไม่มีแหล่งพลังงานในตัว อาศัยคลื่นวิทยุมาเหนี่ยวนำให้เกิดเป็นพลังไฟฟ้า
     - ราคาถูก ทนทาน ไม่ต้องดูแลรักษามาก
     - ใช้ได้ทั้งความถี่ต่ำจนถึงความถี่สูง
     - อ่านข้อมูลได้ในระยะใกล้ๆ เหมาะกับระบบเข้า-ออกของสถานที่ต่างๆ ระบบป้องกันขโมยสินค้า ฯลฯ
     - อายุการใช้งานยาวนานมาก

2. Reader คือ อุปกรณ์ที่ใช้อ่าน หรือเขียนข้อมูลลงในตัว Tag โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ภายใน Reader จะประกอบด้วยเสาอากาศ เพื่อใช้รับ-ส่งสัญญาณ, ภาครับภาคส่งสัญญาณวิทยุ, วงจรควบคุมการอ่าน-เขียนข้อมูล และส่วนที่ต่อกับคอมพิวเตอร์ ตัว Reader นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบเช่นกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน มีทั้งแบบมือถือ ติดผนัง หรือแบบตั้งพื้นขนาดใหญ่

3. ฮาร์ดแวร์ หรือ ระบบที่ใช้ประมวลผล คือ ส่วนที่จะทำการประมวลผลข้อมูลที่ได้มาจากป้าย (Tag) หรือ จะสร้างข้อมูลเพื่อส่งไปยังป้าย (Tag) หรือ ว่าจะเป็นที่เก็บระบบฐานข้อมูล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบที่เรานำเอาไปใช้ เช่น ระบบการจัดการฟาร์มปศุสัตว์ ระบบคลังสินค้า ระบบขนส่ง ระบบการบริหารทรัพยากรต่างๆ เป็นต้น

หลักการทำงานเบื้องต้น
การสื่อสารระหว่าง Tag กับ Reader จะเป็นการสื่อสารที่อาศัยคลื่นความถี่วิทยุ โดยตัว Reader จะส่งคลื่นวิทยุออกมาตลอดเวลา และเมื่อ Tag ผ่านเข้ามาอยู่ในขอบเขตระยะส่งสัญญาณของ Reader เมื่อ Tag ได้รับคลื่น ขดลวดภายใน Tag นั้นนอกจากจะเป็นเสาอากาศแล้ว ยังทำหน้าที่แปลงคลื่นกลับมาเป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อใช้เลี้ยงวงจรไมโครชิพของตัว Tag เพื่ออ่าน หรือบันทึกข้อมูลลงในวงจรไมโครชิพภายใน Tag จากนั้นจะส่งข้อมูลที่ผ่านการแปลงจากไมโครชิพกลับมาโดยผ่านเสาอากาศด้วยการเหนี่ยวนำคลื่นความถี่ไปที่ Reader อีกครั้ง และ Reader จะส่งข้อมูลไปยังหน่วยประมวลผลหลักของคอมพิวเตอร์เพื่อถอดรหัสแล้วนำข้อมูลที่ถอดได้ไปใช้งานต่อไป โดย Reader กับคอมพิวเตอร์จะติดต่อสื่อสารกันผ่านทาง LAN หรือ ส่งผ่านทางความถี่วิทยุทั้งอุปกรณ์มีสายและไร้สาย

Cr.ข่าวสาร Update ,Synergy | Facebook